วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แสน ส.เพลินจิต



ชื่อนักมวย
: แสน ส.เพลินจิต

ชื่อจริง: แสนพิศษฎ์ พุทน์ครุฑ (มชาย เชิดฉาย)

วันเดือนปีเกิด:
18 พฤษภาคม 2515

ภูมิลำเนา:
จ. ปทุมธานี

สถิติ:
44-3-0;14KO

เกียรติยศ
:
แชมป์ฟลายเวต
WBA (2537-2539)

ถนนกำปั้นของ "สมชาย เชิดฉาย" แห่งทุ่งรังสิต ซึ่งเริ่มต้นจากมวยไทยในชื่อ "เดินหน้า โล่ห์เงิน" แล้ววกเข้าสู่สายอินเตอร์ กลายเป็น "แสน ส.เพลินจิต"นั้น คล้ายรอยลิขิตของโชคชะตา โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เพราะเดิมทีเดียว แสนมีฐานะเป็นแค่คู่ซ้อมของ
"แก่นศักดิ์ ส.เพลินจิต" เท่านั้น บังเอิญว่าหน่วยก้านเกิดไปเข้าตา"นายใหญ่" เสถียร เสถียรสุต เจ้าของค่ายเข้าให้ จึงถูกวางตัวเป็น"มวยสร้าง"แบบสากลโดยมีตำแหน่งแชมป์โลกสถาบันใดสถาบันหนึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

เส้นทางสายใหม่ของแสน ส
.เพลินจิต อันมี "อิสมาแอล ซาลาส" จากคิวบาเป็นเทรนเนอร์นั้นได้ยึด "โผน กิ่งเพชร" เป็นต้นแบบตามแผนการของหัวหน้าค่ายซึ่งชื่นชอบลีลาการชกของ โผน กิ่งเพชร เป็นพิเศษยิ่งกว่านักมวยคนใดในปฐพี

แสนได้พยายามศึกษารูปแบบจากเทปการชกของ โผน กิ่งเพชร อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ไม่ว่าการยืน จังหวะฟุตเวิร์ก การออกหมัด โดยเฉพาะหมัดแย็บและอัปเปอร์คัตในระยะประชิดนั้น แสนทำได้ดีและใกล้เคียงมาก แม้ไม่เต็มร้อยก็ไม่น้อยกว่าเก้าสิบ
-ว่าอย่างนั้นเถิด..!!

ดังนั้น ฉายา "โผน 2" ของแสน ส.เพลินจิต ต้องถือว่าได้มาจากความตั้งใจและอุตสาหะพากเพียรอย่างแท้จริง !!

ผลก็คือ
..ในสถิติการชกหาประสบการณ์ 16 ครั้ง แสน ส.เพลินจิต ชนะรวด

แสนได้แชมป์ฟลายเวต
WBA มาครองจากการเอาชนะคะแนน เดวิด กรีแมน แชมป์จากเวเนซูเอล่า ที่ฉะเชิงเทรา นับเป็นแชมป์โลกชาวไทยลำดับที่ 19 ชัยชนะของ "แสน ส.เพลินจิต" เหนือ "เดวิด กรีแมน" ที่ฉะเชิงเทรา เมื่อ 13 ก.พ.2537 นั้น ถือเป็นการทวงคืนเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA ได้สำเร็จอันงดงามยิ่งของนักชกไทยในรอบ 20 ปี นับแต่ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ไปเสียตำแหน่งให้ ซูซูมุ ฮานากาตะ ที่ญี่ปุ่น เมื่อ 18 ต.ค.2517 แสนป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 9 ครั้ง ก่อนที่จะพลิกล็อคแพ้คะแนนเสียแชมป์ให้กับผู้ท้าชิงเวเนซูเอล่า โฮเซ่ โบนิญญ่า ที่อุบลราชธานี อย่างหวุดหวิด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539


อย่างไรก็ตามเขายังขึ้นอุ่นเครื่องอีกเกือบ
20 ไฟต์แต่ก็ยังไม่ได้ชิงแชมป์โลกอีกสักที เขาจึงบินไปเป็นคู่อุ่นเครื่องให้กับนักมวยญี่ปุ่น อย่าง โจอิชิโร่ ซึโยชิ (แพ้ TKO 6) และ โชจิ คิมูระ (แพ้ TKO 10) และแขวนนวมไปในที่สุด

แสนได้ใช้วุฒิปริญญาตรีจากวิทยาลัยพลศึกษา ไปเป็นครูรับจ้างสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนกีฬาในจังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังทำงานในค่ายเพลงลูกทุ่งของคนสนิท ก่อนที่จะหันมาประกอบอาชีพอีกหลายอย่าง

ล่าสุด แสนได้ถูกชักชวนโดย ครู นพวรรณ งามมีศรี ที่เคยสอนเขาเมื่อครั้งยังเรียนที่วิทยาลัยพละศึกษากรุงเทพ ให้ไปเป็นผู้ช่วยเทรนเนอร์คุมนักมวยเยาวชนไปแข่งกีฬาเยาวชนเอเชียที่รัสเซีย ในปี 2008 นี้ หลังจากนั้นเขาก็ได้รับงานเป็นเทรนเนอร์สอนนักมวยระดับเยาวชน ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ คลอง 6 ปทุมธานี จนถึงปัจจุบัน

(เรียบเรียงเพิ่มเติมจากเรื่อง
"เจ้าของฉายา "โผน 2" แสน ส.เพลินจิต" คอลัมน์ ฉายาชาวยุทธ์ โดย สว่าง สวางควัฒน์ นสพ.ข่าวสด ฉบับที่ 5151 วันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2548 ปีที่ 14, ชีวิตที่เหลือ..(ของ) แสน โดย สุรเดช อภัยวงศ์ หนังสือพิมพ์มวยสยามซ็อคเกอร์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม 2551, ต้นฉบับภาพประกอบจากเว็บไซด์ต่างประเทศ)

Special Article

วีรบุรุษตกอับ "แสน ส.เพลินจิต"

ข้อมูลจากเว็บไซด์ mthai.com ต้นฉบับดั้งเดิมจาก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2548

ที่เขาบอกกันว่าช่วงเวลาแห่งความสุขมักจะอยู่กับเราไม่นาน เห็นจะตรงกับชีวิตช่วงนี้ของ แสน ส.เพลินจิต อดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของสมาคมมวยโลกมากที่สุด เพราะนับจากเสียแชมป์โลกในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 10 ของตัวเองให้กับ โฮเซ่ โบนินญ่า ผู้ท้าชิงชาวเวเนซุเอลา ในปี 2539 ไปแล้ว นักชกผู้นี้ก็ไม่เคยได้มีโอกาสกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์คืนอีกเลย


"แสน" จึงได้ลิ้มรสชาติแห่งความสุขเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น หลังจากที่คว้าแชมป์โลกมาครองได้เป็นครั้งแรกในปี 2537 ก่อนจะครองสถิติชนะรวดในการชกป้องกันแชมป์ทั้งสิ้น 9 ครั้ง

ณ เวลานั้นชื่อของ แสน ส.เพลินจิต เป็นนักมวยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมวยที่มีเบสิคค่อนข้างดี ชกสนุก และมีหมัดแย็บคล้ายกับสุดยอดนักชกอย่าง โผน กิ่งเพชร แม้จะมีรูปร่างค่อนข้างผอมบาง แต่ก็สามารถเอาชนะคู่ชกที่เหนือกว่าได้

"ไฟต์ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงของผม คือตอนขึ้นอุ่นเครื่องกับนักชกฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกที่เวทีมวยลุมพินี ชกกับเมลวิน มากราโม่ ที่หลายคนน็อคไม่ลง แต่ผมก็ยังเอาชนะมาได้"

นั่นจึงเป็นที่มาของก้าวแรกในการขึ้นชิงแชมป์โลกสถาบันใหญ่ในเวลาต่อมาของแสน หลังได้รับการติดต่อจาก ทรงชัย รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์ชื่อดังในการจัดไฟต์การชกระดับโลกให้

ก่อนที่จะสร้างชื่อเป็นที่รู้จักในวงการมวยโลก "แสน" เป็นเพียงเด็กชาย "เหน่ง" สมชาย เชิดฉาย อายุ 8 ขวบ ที่ถูกเด็กๆ แถวบ้านรุมรังแกและโดนซ้อมอยู่บ่อยๆ เพราะความที่ตัวเล็กกว่าคนอื่นจึงสู้ไม่ได้ แต่จะมีพี่ชายข้างบ้านซึ่งเป็นนักมวยอยู่ที่ค่ายโล่ห์เงินแถวๆ บ้านคอยเข้ามาช่วยอยู่เสมอ จนกระทั่งชักชวนให้แสนมาซ้อมมวยเพื่อเป็นวิชาป้องกันตัวในที่สุด

"ซ้อมวันแรกผมรู้สึกชอบเสียงตอนชกกับเตะนะ ดูแล้วน่าสนุกดีเลยมาซ้อมกับพี่เขาตลอด ตื่นมาวิ่งด้วยกันตอนตี 5 ทุกวัน หัดชกไปได้ระยะนึงก็เริ่มมีความมั่นใจขึ้นเลยไปขอท้าชกกับพวกที่เคยรังแกเรา ก็ไม่ถึงกับมีผลแพ้-ชนะ แต่เราได้แสดงให้เห็นว่าเราไม่กลัวเขาแล้ว เขาก็ไม่กล้ามาหาเรื่องอีก"

แสนเล่าว่า เวทีแรกที่ขึ้นชกครั้งแรกเป็นของค่ายอดิสร ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือว่าเป็นเวทีใหญ่อยู่เหมือนกัน โดยขึ้นชกเป็นคู่ก่อนเวลา

"ไฟต์แรกชกชนะคะแนนได้ค่าตัวมา 110 บาท ให้แม่หมดเลยแต่ก็ขอไปกินขนมบ้าง ตอนนั้นชกได้เงินก็โอเคแล้วไม่ได้คิดถึงอนาคตอะไร พอชกชนะก็เดินกร่างเลย"

จากเงินไม่กี่ร้อยบาท แสนเริ่มหารายได้เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งทางบ้านตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีรายได้เสริมจากการตักน้ำและหาบน้ำขายด้วย เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน

ช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.3 แสนบอกว่า นอกจากจะเป็นนักมวยให้กับค่ายโล่ห์เงินแล้ว ยังไปสมัครเป็นนักมวยสากลของโรงเรียนธัญบุรีด้วย

"ตอนไปสมัครครั้งแรก อาจารย์ที่รับสมัครถามว่าจะชกได้เหรอ แต่ก็ยืนยันว่าชกได้ ปีนั้นก็ได้เข้าชิงชนะเลิศในรุ่นเล็กสุด 42 กิโล แต่ได้เหรียญเงิน เพราะไม่ได้ขึ้นชก"

ส่วนที่มาของเหรียญเงินในครั้งนี้ เจ้าตัวเล่าแบบขำๆ ว่า หลังจากลดน้ำหนักเสร็จก็กลับมานอนรอที่โรงเรียน และบอกให้อาจารย์ที่คุมทีมตามขึ้นชกด้วย แต่พอถึงเวลาอาจารย์กลับลืม ไม่ได้มาบอกทำให้ได้แค่เหรียญเงิน ส่วนคนที่ได้เหรียญทองตอนหลังก็มาเรียนอยู่ห้องเดียวกัน

พอจบการศึกษาระดับมัธยม แสนเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยพลศึกษาและเป็นนักมวยของสถาบันด้วย ซึ่งผลการชกจะชนะเสียเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเคยเป็นตัวแทนเขตการศึกษา 1 และมีโอกาสได้คัดตัวดาวรุ่งมุ่งโอลิมปิค "แอตแลนต้าเกมส์" ด้วย แต่ชกแพ้ วันชัย หมวดนอก ทำให้ไม่ติดทีมดาวรุ่งอย่างที่วาดหวังไว้

"ผมไม่คิดเสียดายตอนหลังนะที่ไม่ได้ไปชกโอลิมปิค เพราะคิดว่าเป็นโอกาสของคนมากกว่า ใครๆ ก็อยากคว้าโอกาสให้ได้ทั้งนั้น แต่ทางเดินของผมมันเป็นอย่างนี้"

ทางเดินของแสนจึงกลายเป็นนักมวยสากลอาชีพนับจากนั้น แม้จะมีคนพูดเข้าหูเยอะว่าไม่น่าจะไปรอด เพราะรูปร่างบอบบางกว่านักชกคนอื่น แต่เจ้าตัวก็ยอมรับว่าโครงสร้างของตนเองเป็นอย่างนี้ จึงต้องอาศัยเทคนิคในการชกมากกว่า จนกระทั่งสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเข็มขัดแชมป์โลกควรคู่กับเขา เมื่อเอาชนะคะแนน เดวิด กรีแมน แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลาลงได้ในการชกชิงแชมป์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2537 ขณะที่มีอายุ 23 ปี

"ตอนที่ได้แชมป์จากเดวิด กรีแมน ผมภูมิใจมากตรงที่ว่าเขามีเบสิคเก่งมาก ก่อนชกหลายคนบอกไม่น่าชกด้วย เพราะยังไงก็สู้ไม่ได้ และตอนนั้นผมอยู่อันดับ 9 ของโลกด้วย"

หลังจากนั้นแสนก็ชกป้องกันแชมป์มาตลอดแต่เป็นการชกในบ้านเกือบทั้งหมด โดยมีเพียงไฟต์เดียวที่บินไปชกนอกบ้าน นั่นคือการชกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 6 ของตัวเองที่ประเทศญี่ปุ่นกับ ฮิโรกิ ไอโอกะ นักชกแดนปลาดิบ และแม้ว่าที่ผ่านมา แสนจะไม่เคยน็อคใครได้เลยในการชกป้องกันแชมป์ฟลายเวตของดับเบิลยูบีเอ แต่สำหรับหนนี้เขาคว่ำไอโอกะได้อย่างงดงามในยกที่ 10


หลังจากนั้นแสนก็เอาชนะคะแนน ชาง ยอง ซุน
, ลีโอ กาเมซ และอเล็กซานเดอร์ มาห์มูตอฟ ใน 3 ไฟต์ถัดมา ก่อนจะมาเสียแชมป์ให้กับ โฮเซ่ โบนินญ่า ในการป้องกันแชมป์วันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 ที่จังหวัดอุบลราชธานี

"ผมแพ้เพราะมีปัญหาน้ำหนักตัวมากไป และใช้วิธีการลดน้ำหนักผิดวิธี แต่ก็แพ้คะแนนค่อนข้างสูสี พอผลออกมาแพ้ก็มีเสียใจบ้าง แต่ก็รู้ว่าเราแพ้เพราะอะไร รู้ว่าทำเต็มที่ได้แค่ไหน ตอนนั้นเราพยายามทำให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายเราจะทำได้แล้ว"

"หลังจากนั้นไม่มีโอกาสกลับมาเป็นแชมป์อีกเลย ชกแต่อุ่นเครื่อง อุ่นจนแห้งคาหม้อ" ประโยคที่ออกจากปากของนักชกวัย 34 ปี ผู้นี้บอกถึงความรู้สึกภายในใจได้อย่างชัดเจนว่า อนาคตบนสังเวียนผ้าใบสิ้นสุดลงแล้ว และจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาเหมือนเดิม

"ตอนนั้นเป็นรองแชมป์อันดับ 1 อยู่ 2 ปี ได้แต่รอชิง แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าจะได้ชก ทำให้เกิดความลังเลว่าทำไมไม่ได้ชกซักที เราก็คิดว่าคงไม่ใช่แล้วเลยค่อยๆ ถอยออกมา"

"จริงๆ ผมไม่ได้ประกาศออกมาว่าแขวนนวม แต่พอมาถึงจุด จุดนึงมันเริ่มเบื่อ เพราะสิ่งที่เราฝันไว้คาดหวังไว้ พอไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ก็กลายเป็นฝันร้าย ผมก็ค่อยๆ ห่างออกมา ไม่เกิดความรู้สึกอยากขึ้นชกอีกต่อไปแล้ว"


หลังตัดสินใจหันหลังให้วงการมวย เจ้าตัวบอกว่า ยังไม่ได้คิดทำอะไร อยากพักเพื่อรักษาจิตใจกับร่างกายให้กลับมาเหมือนเดิมเสียก่อน แต่ระยะหลังก็เริ่มมองว่าควรจะหยิบจับอะไรบ้าง เพราะเงินทองที่ได้มาในยุคเฟื่องฟูก็หดหายลงไป


"ผมไม่ค่อยมีเงินเก็บ มีแต่ซื้อที่ไว้ 1 แปลงเนื้อที่ 8 ไร่ ที่โคราช ราคาเกือบ 5 ล้านบาท ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะเอาที่ดินไปทำอะไร คิดว่าเป็นการช่วยเหลือคนรู้จักกันเพราะช่วงนั้นที่ดินกำลังบูม และไม่ได้ปรึกษาใคร พอเจ้านาย(เสถียร เสถียรสุต) โทร.มาถามว่าจะเอาที่ดินไหมก็ซื้อเลย ไม่ได้คิด ไม่ได้เอะใจอะไร"

ณ ตอนนี้ เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปีแล้วแต่ที่ดินตรงนั้นก็ยังไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมา ทำให้เจ้าตัวรู้สึกผิดหวังอยู่บ้าง เพราะรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้ซื้อ เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวเอง เวลานี้จึงได้แต่รอจังหวะและโอกาสที่จะแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่


นอกจากซื้อที่ดินในราคาร่วมๆ 5 ล้านแล้ว สมบัติเป็นชิ้นเป็นอันอีกอย่างคือ บ้านหลังย่อมที่จังหวัดปทุมธานีในเนื้อที่ขนาด 48 ตารางวา เป็นบ้านที่ใช้เงินปลูกถึง 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าราคาสูงมากในสมัยนั้น(ปี 2540) และเป็นอีกครั้งที่แสนซื้อที่ดินเพราะช่วยคนที่รู้จักกัน กอปรกับอยู่ไม่ไกลจากบ้านเดิมในจังหวัดปทุมธานีด้วย ทำให้ตัดสินซื้อไว้โดยให้พ่อแม่และน้องชายอาศัยอยู่ ส่วนตัวเองพักอยู่กับภรรยาที่ปากเกร็ด


"ชีวิตผมก็เรื่อยๆ ไม่มีอะไรหวือหวา จะว่าลำบากก็ไม่เชิง พออยู่ได้ถ้าไม่ได้ฟุ่มเฟือยฟู่ฟ่ามากมาย บางทีจังหวะของคนก็ต้องรอเวลาและโอกาส แต่ตอนนี้เริ่มมีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิตบ้าง มีงานทำเลยทำให้ไม่เครียด"

แสนเล่าว่า ทุกวันนี้มีงานประจำทำเพราะพลตำรวจตรีเสวก ปิ่นสินชัย หยิบยื่นโอกาสให้ หลังจากได้ยินเรื่องราวของเขามาบ้าง จึงติดต่อให้เข้ามาเป็นเทรนเนอร์ที่ค่ายมวยได้ 2-3 เดือนแล้ว

"ตอนนี้มองว่าชีวิตเริ่มจะดีขึ้นแล้วจากช่วงที่ผ่านมาไม่มีงานทำ ก็อาศัยถ่ายมิวสิควิดีโอให้เพื่อนที่รู้จักกันบ้าง ส่วนรายได้ทางอื่นก็ไม่มีแล้ว"

พอถามว่า ได้ติดต่อกับเพื่อนนักมวยคนอื่นบ้างไหม เจ้าตัวบอกว่า "ไม่ค่อยได้คุยกับใคร คิดว่าปัญหาเขาก็หนักกันอยู่แล้ว บางทีไม่ต้องไปพูดเขาก็เข้าใจ เห็นสภาพของเราอยู่ เพราะมันก็มีกระแสข่าวออกมาบ้าง"

ส่วนความช่วยเหลือจากคนในวงการเดียวกันมีเข้ามาบ้าง แต่จริงๆ แล้ว แสนบอกว่า นักมวยไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินเพียงแค่นิดหน่อย แต่อยากให้ประชาชนให้ความเหลียวแล และให้รัฐบาลให้ความเหลียวแลบ้าง

"ผมมองว่าทำไมสวัสดิการต่างๆ ไม่มีให้นักมวยอาชีพบ้าง ถึงจะมองว่าคุณทำตรงนั้นคุณก็ได้รับเงินตอบแทนแล้ว ไม่ได้ทำฟรี แต่ขอถามย้อนกลับไปที่มวยสมัครเล่นบ้าง เพราะมวยสมัครเล่นได้รับการดูแลจากทางภาครัฐมากกว่า ผิดกับต่างประเทศที่มวยอาชีพมีเงินมีทองมีชื่อเสียง แต่เมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้น"


แม้ว่าในสายตาของนักชกผู้นี้จะมองว่า แชมป์โลกยิ่งใหญ่กว่า แต่ค่านิยมของคนไทยกลับมองว่าสิ่งไหนได้มายากจะมีคุณค่า ถ้าของสิ่งไหนได้มาง่ายจะด้อยคุณค่าลงไป

"อย่างโอลิมปิคเราเคยได้มาไม่กี่เหรียญ ถือว่าได้ยากกว่าแชมป์โลก เพราะมวยโลกจัดกันทุกเดือน จนเดี๋ยวนี้คำว่าแชมป์โลกมันเสื่อมมนต์ขลังไปแล้ว"

ณ วันนี้ แม้แสนจะไม่ได้เป็นแชมป์โลกที่จบชีวิตค้ากำปั้นอย่างสวยงามเหมือนอย่างนักชกรุ่นพี่คนอื่น แต่แสนเชื่อว่าเขาเป็นนักสู้คนหนึ่งที่สร้างตัวด้วยสองมือของตนเอง และเชื่อด้วยว่าหากยังไม่ตายจะต้องสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ได้

"ผมขอบคุณทุกคนที่ยังนึกถึงผมอยู่ ผมก็ยังพอไปได้ ยิ้มได้ในบางครั้ง ร้องไห้บ้างในบางครั้ง ชีวิตมันก็อย่างนี้ ต้องต่อสู้กันต่อไป ขอให้เราสู้แล้วสักวันนึงจะต้องเป็นวันของเรา


แสน ส.เพลินจิต : ชีวิตที่เหลือของแสน

ข้อมูลจาก "แสน ส.เพลินจิต : ชีวิตที่เหลือของแสน" สัมภาษณ์โดย ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล นิตยสาร ฅ ฅน ฉบับที่ 3 มกราคม 2549

ฟ้าสาง ดาวสูญ

"แก่นจริงๆ มันอยู่ที่ความพอดี ไม่ใช่ว่าเป็นแช้มป์โลกแล้วต้องยืนอยู่บนหลังคาบ้าน ไม่ใช่อย่างนั้น คนเราจะรวยจะจน สุดท้ายมันก็ขี้เถ้ากองเดียว สุดท้ายก็ดินกลบหน้า"

นั่นเป็นประโยคสุดท้ายในการสัมภาษณ์
"แสน ส.เพลินจิต"อดีตแช้มป์โลกรุ่นฟลายเวตของสมาคมมวยโลก นั่นเป็นประโยคสุดท้ายที่ผมเอามาขึ้นต้น....ไม่ใช่อะไรอื่นเลย


เพียงเพราะว่าทุกวันนี้ผู้คนส่วนมากมักจะลืมหรือแกล้งไม่ใส่ใจกับประโยคสุดท้ายประโยคนี้


...ความจริงแล้วแง่มุมของชีวิตมีมากมายมหาศาล แก่นหรือหลักยึดของทุกคนก็ต่างกันไป แต่ถามว่าเราลืมหรือเปล่ากับสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ หรือเราลงไปครุ่นคิดกับมันมากน้อยเพียงไร...ก็เท่านั้นเอง


...ย้อนกลับไปในวัยเด็กของแสน เขาเป็นเพียงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่มักจะโดนเพื่อนๆรังแก ดังนั้นแล้วเขาจึงต้องการวิชาเพื่อเป็นการป้องกันตัว หาใช่จะยึดถือเป็นอาชีพ หรือความฝันที่ว่าจะเป็นแช้มป์โลก

"พอหัดมวยซักพักเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง ไปท้าเพื่อนชก ท้าชกเลย ตัวต่อตัว ผลแพ้ชนะมันไม่มีหรอก แต่มันแสดงให้เห็นว่าเราก็สู้ได้ หลังจากนั้นเพื่อนก็ไม่มาแกล้งหรือรังแกแล้ว"

...แสนเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบว่า

"พอคนเรามันทำอะไรซ้ำๆ ทุกวัน ทุกวัน มันก็ชอบไปเอง"

ช่
...การทำอะไรซ้ำๆ ทุกวันๆ อย่างน้อยมันก็จะซึมซับไปเอง ผมนึกแล้วก็คล้อยตาม และเห็นว่าถ้าคนที่ทำไม่ดีกับสังคม คนที่ฉ้อโกงเงินภาษีประชาชน ถ้าคนเหล่านั้นทำทุกวันๆ มันก็คงกลายเป็นความชอบ หรือกลายเป็นนิสัยที่แก้ได้ยาก และผมว่า มันเป็นท่าทีและอาการของการทำซ้ำที่น่ากลัว...

...แสนยังคงเล่าเรื่องของเขาในวัยเด็กต่อ และผมก็กลับมาสู่การสนทนา ละทิ้งความคิดตัวเองลงชั่วคราว

"ชกครั้งแรกก็ชนะเลย ดีใจมาก ได้เงินมา 110 บาทให้แม่หมดเลย ตอนนั้นประมาณ 8-9 ขวบ แต่ครั้งที่สองแพ้และก็มีการว่ากล่าว เราก็น้อยใจ เพราะว่าเราทำเต็มที่แล้ว อีกอย่างมวยที่เราแพ้
เขาชกมาก่อนเราตั้งนาน มีประสบการณ์มากกว่า เราชกมาแค่ครั้งเดียว เราก็เลยหยุดชกไป 4-5 เดือนพอทำใจได้ก็กลับมาใหม่ กลับมาซ้อมเหมือนเดิม"

...อันที่จริงคำพูดที่ออกจากปากคนค่อนข้างละเอียดอ่อน แม้ว่าตอนนั้นเขายังเด็ก แต่อาการน้อยใจก็หาใช่ว่าจะจำกัดอายุของคน เขาเล่าว่ามันคล้ายกับตอนเสียแช้มป์ ที่มีคนพูดถึงขนาดว่า "ล้มมวย" หรือเปล่า?

...พอถามเขาว่า จำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2537 ได้ไหม แต่ยังไม่ทันสิ้นเสียง เขาก็สวนขึ้นมาทันที วันนั้นเป็นวันที่เขาได้แช้มป์โลก และเป็นวันที่เขาไม่ลืมเช่นเดียวกับวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 2539

"13 กุมภาพันธ์ ปี...37 ที่ฉะเชิงเทรา มัน...ยังไงดีล่ะ...วันนั้นผมรู้ว่าผมชนะ พอขึ้นไปยกแรกผมรู้ทันทีว่า...ผมสู้ได้แน่นอน แต่คำว่าแช้มป์โลกเนี่ย...ผมไม่คิด! วันนั้นใครๆก็คิดว่าผมแพ้แน่ ไม่รอดแน่ สู้ไม่ได้เพราะผมเป็นรอง คนนี้แพ้เขาทราย แต่ว่ากว่าที่เขาทรายจะชนะได้ก็เหนื่อย

"การวางแผนวันนั้นทุกคนให้ผมเดินชก ให้บุก ให้ลุย ตอนซ้อมที่ค่ายผมก็ทำตามแผน แต่พอขึ้นไปบนเวทีจริงๆแล้ว มันไม่ใช่ มันเปลี่ยนไป แต่ผมคุยกับโค้ช เขาบอกว่า คุณอยากทำอะไรคุณทำ แล้วผมก็ทำตามที่ผมคิดและก็เชื่อ คือไม่เดินหน้าลุย ใช้จังหวะแย็บหนึ่งสอง ใช้ความเร็วหลบฉาก ใช้สายตา ทุกคนงงหมด แม้กระทั่งโปรโมเตอร์ทรงชัยเข้ามาบอกว่าให้ลุย ทำไมไม่เดินหน้า?...

..."ช่วงนั้นดูมวยเยอะมาก เปิดเทปดูกับโค้ชแล้วก็มาพูดคุยกัน อย่างไหนที่เหมาะกับตัวเองผมก็เอามาประยุกต์ใช้ อย่างไหนไม่เหมาะโค้ชก็จะบอก เราจะนั่งปรึกษากันเชื่อใจและให้เกียรติกัน

"พอกรรมการประกาศว่าเป็นแช้มป์โลก ผมก็แบบ...เราเป็นแช้มป์โลกเหรอ กูเนี่ยนะแช้มป์โลก คือมันไม่ได้คิด คิดว่าชนะอย่างเดียว แต่คำว่าแช้มป์โลกไม่เคยคิดเลย ตอนอาบน้ำที่โรงแรมก็นอนแช่น้ำ ตอนนั้นน้ำร้อนมาก แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่ามันร้อน"

เขาร่ายยาวถึงวันที่ประสบความสำเร็จ จนผมถามเขาว่าเงินรางวัลครั้งนั้นได้เท่าไหร่
?

"ไม่รู้ว่าได้เท่าไหร่ หัวหน้าค่ายมวยรับมา ผมได้ 25% จากทั้งหมด"

ผมถาม
"จี้"ว่าประมาณเท่าไหร่?

"ผมยังไม่รู้เลยว่าค่าตัวผมเท่าไหร่ แต่คงได้น้อย เพราะไฟต์ชิงแช้มป์โลก โปรโมเตอร์ต้องลงทุน ต้องจ้างแช้มโลก ต้องจ้างกรรมการ"

...ผมนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ ไม่กล้าที่จะพูดอะไรต่อ แต่ก็ถามเขาว่าจำครั้งที่อุบลฯได้ไหม?

"อ๋อ!...เสียแช้มป์ที่อุบลฯวันที่ 24 ..39 วันนั้น...เราก็รู้ตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าเราเป็นรอง เพราะเรามีปัญหาเรื่องน้ำหนักที่ยังเกินอยู่ จนต้องกินยาถ่าย มันไม่มีแรง ซึ่งมันเป็นวิธีที่ผิด โค้ชก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาเชื่อใจและให้เกียรติในการตัดสินใจ มันเป็นทางออกสุดท้ายแล้วในตอนนั้น แต่ก็ยังมีความมั่นใจอยู่นะ"

"วันนั้นถ้า...ถ้า...ตัดสินแบบชาตินิยม เข้าใจนะ ชาตินิยม! ผมชนะได้ แต่ผมบอกเลยว่าผมไม่เคยโกงโคร เรื่องน้ำหนักตัวเขาก็บอกว่าซิกแซ็กได้ แต่ผมบอกว่าผมทำได้ ผมไม่อยากโกง สุดท้ายเราก็เข้าใจ เราเตรียมตัวน้อยกว่าเขา มีปัญหามากกว่าเขา ทีมงานก็ปลอบใจ เราทำเต็มที่แล้ว ไม่เป็นไร เราไม่โกงเขา เราไม่โกงตัวเอง"

...เขาย้ำคำว่า"เราไม่โกงตัวเอง"อยู่ 3 ครั้ง จนทำให้ผมเกิดความรู้สึกร่วมไปกับเขาด้วย...


"เสียงวิจารณ์ก็มีหลายกระแส มีแม้กระทั่งว่าผมล้มมวย ผมก็ตอบกลับไปว่า ไม่จริง ผมทำเต็มที่แล้ว แต่กรรมการตัดสินให้ผมแพ้ ก็แค่นั้นเอง (หัวเราะ)"


...แสนเป็นแช้มป์ตอนอายุ 23 ปี แต่เข็มขัดอยู่กับเขาแค่ 2 ปี...ผมถามว่าในช่วง 2 ปีนั้นมีชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

"เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก มันก็ยังไงดีล่ะ...แท็กซี่บางคันไม่เอาเงินแต่ขอลายเซ็นผมแทน ผมเกรงใจเหมือนกันนะ ร้อยกว่าบาทแน่ะ 2 ปีถามว่าสบายไหม? ก็สบายดี แต่มันก็เหมือนเดิม ต้องซ้อมมวยอยู่ แต่ว่าการใช้จ่าย มันก็คล่องขึ้น มีชื่อเสียง มีเงินทอง และอะไรอีกหลายๆอย่าง เข้ามาในชีวิต"

...เขาบอกว่า 2 ปีนั้นเขาไม่รู้เรื่องเงินเลย ผมจึงถามเขาอย่างตรงๆว่า แล้วใครเป็นคนเก็บเงิน

"ก็เจ้านาย ผมก็เบิกมาใช้เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน แต่เราไม่รู้ว่าทั้งหมดได้มาเท่าไหร่ แต่ตอนหลังมารู้ เพราะมีการพูดคุยกันระหว่างค่ายกับโปรโมเตอร์ ถึงการแยกเส้นทางเดิน เลยมีการชี้แจงตัวเลข คือตั้งแต่ผมอุ่นเครื่องจนถึงเป็นแช้มป์และเสียแช้มป์ ประมาณ 2-3 ปี ทั้งหมดยังไม่หักอะไรเลย ค่าตัวผม 40 กว่าล้านบาท ประมาณ 45-48 ล้าน จำไม่ได้"

เขาย้ำกับผมว่า
40 กว่าล้านบาท 3 ครั้ง

"แต่เราก็ไม่ได้มาก้อนเดียวทั้งหมด มันค่อยๆจ่าย แต่ว่าผมได้ 25%"

"ผมชกมวยด้วยความสุข แต่พอเข้าไปในระบบธุรกิจ...มันเบื่อ! ผมบอกกับโปรโมเตอร์ว่า อยากชกกับใครก็ได้ที่เก่งๆ แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะเหตุผลทางธุรกิจ อีกอย่างถ้าเราแพ้ขึ้นมาก็จบ เขาต้องการถนอมเราไว้ ใช่...เราปฏิเสฐเงินไม่ได้ แต่..มันไม่ใช่ทั้งหมด"

...และกับปัจจุบัน เขาทำอะไรอยู่ ชีวิตจากเดิมที่เป็นที่รู้จัก แต่กลับกลายว่าเป็นใครก็ไม่รู้ เขาคิดยังไง? ผมอยากรู้..

"ทุกวันนี้ยังล่องลอยอยู่ ก็รับงานไปเรื่อยๆ รายได้มันก็ไม่แน่นอน มีช่วงนึงไปเล่นหนังวีซีดี ช่วงก่อนเป็นอาจารย์พิเศษสอนมวยที่วิทยาลัยพละกรุงเทพ และก็มีเล่นมิวสิคให้ พรศักดิ์ ส่องแสง"

"มันอยู่ที่ความพอดีของคน และอยู่ที่อีโก้ของคน ถ้าเราตัดอีโก้ออกมันก็จะสบายขึ้น เมื่อก่อนมีเงินในกระเป๋าไม่ถึง 500 จะไม่กล้าไปไหน แต่เดี๋ยวนี้มี 20 ก็ออกจากบ้านได้"

...อะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดไปได้ ผมถามเขา

"ผมคิดว่า...เพราะพ่อผม ตอนนั้นนั่งเครียดอยู่ที่บ้าน มันมีแต่ปัญหา พ่อเดินมาตบไหล่แล้วบอกว่า ไอ้เหน่ง เอ็งไม่ดีใจเหรอวะ จากที่ไม่มีจะแดกแล้วมีหนี้เป็นล้านได้... ตอนนี้ผมก็ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ขอให้เป็นงานสุจริต และมีหนี้อยู่ประมาณหกแสนแต่เป็นหนี้ที่เราไม่สมควรจะเป็น"

...หนี้ที่ว่ามาจากการไปค้ำประกันให้กับเพื่อน โดยเอาที่ดินที่ซื้อตอนเป็นแช้มป์ไปวางไว้ แล้วไปๆ มาๆ เพื่อนคนนั้นก็หายไป สุดท้ายก็เป็นเขาเองที่ต้องแบกรับภาระ

...ทุกวันนี้ถ้ามีคนถามว่า แสน ส.เพลินจิต ประกอบอาชีพอะไร แสนจะตอบว่า

"ขอเปลี่ยนคำถามได้ไหม ถามว่าตอนนี้หาเงินมาจากไหนดีกว่า(หัวเราะ)"

...เพราะว่างานที่เขาทำมันหลายอย่างและเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ว่า

"ความตั้งใจก็คือ เอาตัวเองและครอบครัวให้รอด งานอะไรที่สุจริตผมทำหมด ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทำทุกอย่างที่จะหาเงินได้โดยสุจิต..ก็มีท้อบ้าง แต่ไม่เคยถอย คนถอยคือคนที่ตายแล้ว"

"เวลาชกมวยมันก็มีช่วงของมัน เราหายใจเข้าลึกๆ แล้วก็ลุยเข้าไปต่อย ๆ ๆ พอเหนื่อยเราก็หลบออกมา พอหายใจเข้าไปใหม่ เราก็เดินหน้าสู้ต่อไป ชีวิตมันก็เหมือนการชกมวย มี 12 ยก
แต่เราไม่รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ยกที่เท่าไหร่ ระฆังยังไม่ดัง เราหยุดไม่ได้"

...เขายังเล่าต่อด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่มีความสิ้นหวังหรือความทุกข์ที่แสดงออกทางสายตาเลย

"ผมได้เข้าเฝ้าในหลวง สมเด็จพระสังฆราช และตอนที่ผมบวช หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นผู้บรรพชาให้ และที่ผมไม่เคยบอกใคร ผมได้จับมือพระสันตะปาปา แต่ไม่ใช่เป็นการส่วนตัวนะ ตอนนั้นไปที่วาติกัน ไปยืนดูตอนแรกว่าจะถ่ายรูป แต่เปลี่ยนใจ เดินเข้าไปจับมือ ผมถือว่าโอเค ดีมากๆ สำหรับชีวิต"

"เงินมันเป็นยานพาหนะที่พาเราไปหาสิ่งอื่นๆ ถ้าไม่มีผมก็เดิน แต่ว่าเดินมากๆมันก็เมื่อย มันก็ต้องมีบ้าง(หัวเราะ) แต่มันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต"

..สุดท้ายแล้วแม้ว่าเส้นกราฟชีวิตของแต่ละคน จะมีขึ้นมีลงไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยความสุขในชีวิต เราเท่านั้นที่เป็นคนเลือกและเป็นคนกำหนด

...ผมลาอดีตแช้มป์โลกว่า" เดี๋ยวผมกลับเลยนะครับพี่ ขอบคุณมากครับ"

แสนทำท่าจริงจังและถามว่า
"กลับเลยหรือ ไกลนะ..."

ผมหัวเราะ
...และมันเป็นเสียงหัวเราะจริงๆ แม้ว่าจะไม่น่าหัวเราะเท่าไหร่ แต่ความสุขในชีวิตที่ทุกคนถวิลหา คือเสียงหัวเราะ มิใช่หรือ?

...ก่อนลา วูบหนึ่งผมนึกถึงคำพูดสุดท้ายของเขา ที่เป็นประโยคขึ้นต้นบมสัมภาษณ์นี้

ขอบคุณ...แสน ส.เพลินจิต