วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

รัตนชัย ก่อเกียรติยิม



ชื่อนักมวย:
รัตนชัย ก่อเกียรติยิม

ชื่อจริง:
ไชยา โพธิ์ทอง

วันเดือนปีเกิด:
11 พฤษภาคม 2519

ภูมิลำเนา:
อ. ด่านขุนทด, จ. นครราชสีมา


สถิติ:
73-10-0; 49KO

เกียรติยศ:

แชมป์จูเนียร์ฟลายเวตประเทศไทย (เวทีราชดำเนิน) (2535)
แชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวตประเทศไทย (เวทีราชดำเนิน) (2536-2537)
แชมป์ฟลายเวต
I
BF Intercontinental (2537)
แชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต
I
BF Intercontinental
(2538)
แชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต
WBO Asia-Pacific (2544)
แชมป์แบนตั้มเวต WBO Asia-Pacific (2546-2547, 2549-2550)
แชมป์แบนตั้มเวต WBO (2547-2548)


"เล็ก" รัตนชัยเป็นน้องชายแท้ๆของอดีตแชมป์มินิฟลายเวต
IBF 2 สมัย "โบ้" รัตนพล ส.วรพิน เขาขึ้นชกมวยสากลอาชีพตามพี่ชายของเขาภายใต้สังกัดเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2535 และในปีเดียวกันนี้เขาก็คว้าแชมป์จูเนียร์ฟลายเวตเวทีราชดำเนินที่ว่างมาครองได้ด้วยการชนะคะแนน 10 ยก รุ่งโรจน์ เกียรติเกรียงไกร เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 แต่พอป้องกันแชมป์ครั้งแรกก็ดวงแตกแพ้คะแนน 10 ยก คมพยัคฆ์ จ.เจริญ เสียแชมป์ไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีเดียวกัน พร้อมทั้งเสียสถิติแพ้เป็นครั้งแรกอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ปีต่อมาเขาก็ข้ามรุ่นไปคว้าแชมป์จูเนียร์ฟลายเวตเวทีราชดำเนินที่ว่างมาครองได้อีกเส้นด้วยการชนะ
KO7 จักรราช ยุทธกิจ มื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2536 จากนั้นก็ป้องกันแชมป์ไว้ได้ 1 ครั้งก่อนจะได้โอกาสลดรุ่นมาชิงแชมป์ฟลายเวต IBF Intercontinental เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 เอาชนะเจ้าของตำแหน่งชาวอินโดนีเซีย แอบดี้ โปฮัง ได้ครองแชมป์ระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก แต่เจ้าเล็กก็ครองแชมป์ได้แค่ไม่ถึง 3 เดือนก็บินไปเสียแชมป์คืนให้กับโปฮังที่เมืองสุราบายาด้วยการแพ้คะแนนทางเทคนิคในยกที่ 4 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมปีเดียวกัน

เจ้าเล็กกลับมาอุ่นเครื่อง 1 ครั้ง ก็ได้โอกาสชิงแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต
IBF Intercontinental ที่ว่างเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 และก็เป็นฝ่ายเอาชนะ TKO10 ปิรุส บอย ได้คาดเข็มขัดโก้อีกครั้ง อย่างก็ตามเพียงการป้องกันแชมป์หนแรกเจ้าเล็กก็หอบเข็มขัดไปทิ้งที่สุราบายาอีกครั้งด้วยการแพ้คะแนน 12 ยก ริคกี้ มาตูเลสซี่ย์ นักชกเจ้าถิ่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมปีเดียวกัน

เจ้าเล็กกลับมาอุ่นเครื่องชนะรวด 18 ครั้งก็ได้รับเทียบเชิญให้ไปบินชิงแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต
IBF ที่ว่างกับนักชกผู้ร้อนแรงในขณะนั้นอย่าง มาร์ค "ทู ชาร์ป" จอห์นสัน และเจ้าเล็กก็สู้กับจอห์นสันได้ดีเกินคาด และแพ้ไปเพียงคะแนนขาดลอยเท่านั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2542 เจ้าเล็กยังไม่ท้อกลับมาชกชนะ 4 ครั้งรวดก็ได้เทียบเชิญไปชิงแชมป์ WBC International รุ่นซูเปอร์ฟลายเวตกับเจ้าของตำแหน่งที่เป็นอดีตแชมป์ซูเปอร์ฟลายเวต WBC อย่าง เกอร์รี่ย์ พีญาโลซ่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2543 และตามข่าวแจ้งว่าเจ้าเล็กเป็นฝ่ายทำคะแนนนำมาก่อน แต่ติดเล่นทำการ์ดตกเลยโดนสวนตูมเดียวหลับกลางอากาศแพ้น็อคไปในยกที่ 6 ชวดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย

รัตนชัยกลับมาชกกับดาวรุ่งดวงใหม่ ยอดดำรงค์ สิงห์วังชา และแพ้คะแนน 10 ยกทำท่าจะกู่ไม่กลับ แต่ไฟต์ต่อมาก็ไปเอาชนะทีเคโอ อกุส เอกาจาย่า นักชกอิเหนาคาบ้านในยกที่ 2 กู้ชื่อคืนมาได้ และก็ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต
WBO Asia-Pacific ที่ว่างกับ แดงเกอร์ พาราซิบู เมื่อ 13 สิงหาคม 2544 และก็เป็นฝ่ายชนะน็อคไปในยกที่ 7 คว้าแชมป์สำเร็จ อย่างไรก็ตามเจ้าเล็กมีโอกาสครองแชมป์อยู่ได้ไม่กี่วันก็มีอันต้องถูกปลดเพราะทางผู้จัดเบี้ยวค่าแซงก์ชั่นกับทางสถาบัน แต่เจ้าเล็กก็ยังสร้างชื่ออีกครั้งด้วยการบินไปเอาชนะคะแนนแบบเสียงข้างมาก 10 ยก เหนือต่อยอดมวย แดนนี่ "คิด ไดนาไมท์" โรเมโร่ ถึงสังเวียน เมดิสัน แสควร์ การ์เด้น, นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2544


และจากชัยชนะในไฟต์นี้เอง เจ้าเล็กก็ได้รับการคัดเลือกให้ไปชิงแชมป์แบนตั้มเวต
IBF กับ ทิม ออสติน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีเดียวกัน ในไฟต์นี้แม้ว่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คะแนนเอกฉันท์ แต่เจ้าเล็กก็ยังชกได้สนุกถูกใจอเมริกันชนอีกครั้ง จึงยังได้รับการสร้างสรรค์ต่อเนื่องโดยขึ้นชก 5 ครั้งชนะ 4 แพ้ 1 ซึ่งการแพ้นั้นเป็นการแพ้คะแนน 10 ยก คริส จอห์น ดาวรุ่งอินโดนีเซียถึงถิ่น ซึ่งต่อมาจอห์นก็ได้ครองแชมป์เฟเธอร์เวต WBA ในอีกไม่นานนัก

เจ้าเล็กได้โอกาสอีกครั้งจากต้นสังกัดใหม่ "ก่อเกียรติ กรุ๊ป" ให้ขึ้นชิงแชมป์แบนตั้มเวต
WBO Asia-Pacific ที่ว่างกับ กัน ตินูล่าร์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 และเจ้าเล็กก็อาศัยความโหดให้ทุบคู่ชิงชาวอิเหนาแพ้ TKO ไปในยกที่ 3 ได้เป็นแชมป์ภายใต้ร่มเงาของ WBO อีกครั้ง และคราวนี้เจ้าเล็กขึ้นชก 7 ครั้งชนะรวด แถมเป็นการป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ถึง 5 ครั้ง อันดับโลกจึงพุ่งขึ้นสูงสุดอย่างรวดเร็ว และโอกาสทองก็มาถึงเมื่อทางต้นสังกัดตัดสินใจส่งขึ้นชิงแชมป์แบนตั้มเวต WBO ของจริงกับเจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิกัน ครู๊ซ "ชูโช่" คาร์บาฮาล และเจ้าเล็กก็อาศัยความหนักต่อยเอาเจ้าของตำแหน่งลงไปคลุกฝุ่นในยกที่ 5 ก่อนที่ตัวเองจะหมดแรงถูกยำเกือบไปไม่รอดในยกที่ 8 แต่เจ้าเล็กหันกลับมาใช้จังหวะฝีมือทำคะแนนจนเข้าไปชนะไปในที่สุด 116-111, 116-110, และ 118-109 กลายเป็นแชมป์โลก WBO คนแรกของไทยไปอย่างสวยงามเมื่อ 7 พฤษภาคม 2547


อย่างไรก็ตามรัตนชัยได้ขึ้นอุ่นเครื่องถึง 7 ครั้ง จึงได้ขึ้นป้องกันตำแหน่งครั้งแรกซึ่งเป็นไฟต์บังคับกับแชมป์
WBO Latino เมาริโอ มาติเนซ ชาวปานามา ที่เคยครองเข็มขัดแชมป์โลกเส้นที่รัตนชัยครองอยู่นี้มาก่อนด้วย ในวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ที่ภูเก็ต ซึ่งเจ้าเล็กยังชกสไตล์ขี้เล่นจนถูกต่อยเอาเกือบหล่นหลายครั้ง แต่ก็ยังอุตส่าห์เอาชนะคะแนนไปเต็มกลืน 116-112, 116-112, และ 114-114 ป้องกันแชมป์เอาไว้ได้

แต่ล่าสุดเจ้าเล็กก็พลาดท่าพ่ายน็อค จอห์นนี่ กอนซาเลซ แชมป์
NABO ชาวเม็กซิกันรองแชมป์อันดับ 1 คนใหม่ไปอย่างบอบช้ำ ชนิดตัวเองร่วง 3 นับ ก่อนถูกจับ TKO ไปในยกที่ 7 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2548 ตามเวลาในอาริซ่า, สหรัฐอเมริกา เสียแชมป์โลกไปอย่างบอบช้ำ

อย่างไรก็ตามในปี 2549 นี้รัตนชัยกลับมาอุ่นหมัดชนะน็อคไปแล้ว 2 ครั้ง และทำท่าว่าจะได้ชิงแชมป์เส้นเดิมของตัวเองคืนอีกครั้ง เมื่อกอนซาเลสละตำแหน่งข้ามรุ่นไปชกพิกัด 122 ปอนด์

แต่ล่าสุดรัตนชัยก็กลับมาครองแชมป์
WBO Asia-Pacific รุ่น 118 ปอนด์ ที่ว่างได้เป็นสมัยที่ 2 เมื่อเอาชนะ TKO4 จอห์นนี่ เลียร์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 จานั้นก็ขึ้นอุ่นเครื่องชนะไปแล้ว 4 ครั้งรวด ก่อนที่จะได้โอกาส
ชิงแชมป์โลกของตัวเองคืนจากเจ้าของแชมป์คนปัจจุบัน เกอร์รี่ย์ พีญาโลซ่า ในวันที่ 6 เมษายน 2551 ที่กรุงมะนิลา แต่รัตนชัยก็สู้ไหม่ไว้ ถูกยำพ่าย TKO8 อย่างบอบช้ำ

รัตนชัยกลับมาอุ่นเครื่องชนะ 1 ครั้ง และกำลังจะเดินทางไปชิงแชมป์ WBO Oriental รุ่นแบนตั้มเวตจาก ไมเคิล โดมิงโก้ แชมป์ชาวฟิลิปปินส์ ในวันที1 14 กันยายน 2551 นี้

(ต้นฉบับภาพประกอบจาก นสพ.มวยสยามรายวัน ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2547)