วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ศิริมงคล สิงห์วังชา



ชื่อนักมวย: ศิริมงคล สิงห์วังชา

ชื่อจริง: ศิริมงคล เอี่ยมท้วม

วันเดือนปีเกิด:
2 มีนาคม 2520

ภูมิลำเนา:
จ. ปทุมธานี

สถิติ:
59-2-0; 33KO

เกียรติยศ
:
แชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต WBU (2538)
แชมป์แบนตั้มเวต WBU (2538-2539)
แชมป์แบนตั้มเวตเฉพาะกาล WBC (2539-2540)
แชมป์แบนตั้มเวต WBC (2540)
แชมป์ซูเปอร์เฟเธอร์เวต WBC (2545-2546)

แชมป์ซูเปอร์เฟเธอร์เวต ABCO (2550)
แชมป์ซูเปอร์ไลต์เวต PABA (2550-ปัจจุบัน)


ศิริมงคลเริ่มชกมวยเมื่อปี 2537 ในสายของ "บิ๊กผมอึ่ง" สหสมภพ ศรีสมวงศ์ ผู้กว้างขวางในสภามวยโลกยุคนั้นของเมืองไทย ไฟต์แรกก็เอาชนะคะแนน 6 ยก ฤทธิชัย เกียรติประภัสร์ มวยเก๋ากว่าไปได้อย่างง่ายดาย ศิริมงคลชนะรวด 8 ครั้งก็ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต WBU ที่ว่างอยู่เป็นตำแหน่งแรกที่เวทีมวยช่อง 7 สี กับ ฆวนนิโต้ "บอย" คูม่า นักมวยฟิลิปปินส์ และ "เจ้าโอ๋" ก็ต้อนแต้มขาดลอยได้ครองแชมป์เส้นแรกอย่างงดงามเมื่อ 5 สิงหาคม 2538 แต่ต่อมาอีกแค่ 4 เดือน "เจ้าโอ๋" ก็ทนรีดน้ำหนักต่อไปไม่ไหวกระโดดข้ามรุ่นมาชิงแชมป์ที่ว่างของสถาบันเดียวกันทันทีในวันที่ 23 ธันวาคม 2538 และเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนน มิเกล เอสปิโนซ่า จากเม็กซิโกไปได้ขาดลอยอีกครั้ง กลายเป็นแชมป์โลก 2 รุ่นในทันที

เจ้าโอ๋ป้องกันแชมป์ครั้งเดียวก็สร้างชื่อด้วยการไล่ถลุงนักชกรุ่นพี่อย่าง เขาใหญ่ มหาสารคาม (เถลิงศักดิ์ หรือ ถนอมศักดิ์ ศิษย์โบ๊เบ๊) คาคอกไปแค่ยกที่ 3 ก่อนที่ลูกพี่ใหญ่จะผลักดันให้ข้ามห้วยมาชิงแชมป์เฉพาะกาล WBC รุ่นเดียวกันเอาชนะน็อคยก 5 โฮเซ่ หลุยส์ บูเอโน่ ชนิดคู่ชิงแชมป์ที่ว่างหลับกลางอากาศเลยทีเดียวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2539 จากนั้นพอเจ้าของตำแหน่งตัวจริง เวยน์ แม็คคัลลัฟ สละตำแหน่งข้ามรุ่น เจ้าโอ๋ก็กลายเป็นแชมป์ตัวจริงไปโดยสมบูรณ์ และขึ้นป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 3 ไฟต์ ก่อนจะต้องลดน้ำหนักจนซีดเซียวไปป้องกันแชมป์กับ จิชิโร่ ซึโยชิ ที่แดนปลาดิบ ผลก็คือเจ้าโอ๋แพ้ภัยตัวเองพ่าย TKO ไปในยกที่ 7 เสียแชมป์ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540

เจ้าโอ๋กลับมาภาค 2 อุ่นเครื่องถี่ยิบถึง 23 ครั้ง พร้อมกับได้ผู้จัดการคนใหม่ สุชาติพิสิฐวุฒินันท์ แห่งนครหลวงโปรโมชั่น และได้โอกาสชิงแชมป์ซูเปอร์เฟเธอร์เวต WBC ที่ว่างกับ เคนโกะ นากาจิม่า ที่โตเกียว และก้เป็นฝ่ายชนะน็อคไปแค่ยกที่ 2 กลายเป็นแชมป์โลก 3 รุ่นในทันทีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2545 แต่คราวนี้เขาป้องกันแชมป์เอาไว้ได้เพียงครั้งเดียว ก็เดินทางออกไปแพ้คะแนน เฮซุส ชาเวซ ถึงเมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2546 ชนิดที่ไม่กล้าแลกกับคู่ชกเท่าไหร่จนทำให้ผู้จัดการตัวจริงต้องขายต่อให้ทางผู้จัดการร่วม นริส สิงห์วังชา นำไปปลุกปั้นเองในสังกัด นริส โปรโมชั่น จนขณะนี้ก้าวเป็นรองแชมป์อันดับ 2 รุ่นไลต์เวตของ WBC แล้ว

ศิริมงคลได้เดินทางไปชกตัดเชือกกับ ไมเคิล คล๊าค รองอันดับ 1 ในขณะนั้นที่ลาสเวกัส เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2548 และก็เอาชนะ TKO ไปในยกที่ 7 อย่างสวยงาม พร้อมทั้งได้สิทธิในการขึ้นชิงแชมป์ไลต์เวต WBC ต่อไป

แต่เนื่องจากว่าทางแชมป์โลก ดีเอโก้ คอร์ราเลส นั้น มีพันธะที่จะล้างตากับคู่ปรับเก่า โฮเซ่ หลุยส์ คัสติญโญ่ อดีตแชมป์เก่าซึ่งปัจจุบันเป็นรองอันดับ 1 และเกิดการบาดเจ็บขึ้นมา จึงมีข่าวว่า “เจ้าโอ๋” กำลังจะได้ชิงแชมป์เฉพาะกาลที่ว่างแล้วในราวๆเดือนเมษายน 2549 นี้ กับแชมป์ OPBF ชาวญี่ปุ่น ชิคาชิ อินาดะ รองเบอร์ 7 ที่สหรัฐอเมริกา แต่โชคร้าย "เจ้าโอ่" เกิดตรวจพบเชื้อไวรัสบีจึงอดไปชิงแชมป์โลกเฉพาะกาลในที่สุด

อย่างไรก็ตามเจ้าโอ๋กลับมาชกในเมืองไทยชนะไปแล้ว 1 ครั้ง และหากเชื้อไวรัสบีหายไปได้ก็น่าที่จะได้โอกาสทองของชีวิตอีกหนหนึ่ง

ต่อมาเจ้าโอ๋ได้เซ็นต์สัญญาไปชกมวย K-1 แล้วจำนวน 4 ไฟต์ ฟันเงินไปหลายล้านบาท แต่กลับมีปัญหากับเสี่ยนริสจนต้องซื้อตัวเองคืน พร้อมทั้งขึ้นชกมวยไถ่ตัวเองโดยหักค่าตัว 50% ทุกไฟต์ โดยเจ้าตัวขึ้นชกชนะไปแล้ว 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามปรากฏว่าเจ้าโอ๋ต้องเลิกสัญญาชก K-1 ก่อนกำหนด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องถูกเบี้ยวค่าตัว ทำให้ต้องกลับมาชกมวยสากลอย่างเดียว

เจ้าโอ๋ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์ ABCO รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวต กับนักชกรุ่น้อง ทอง ป.โชคชัย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 แม้ว่าจะต้องดลน้ำหนักจนแทบไม่มีแรงชก แต่เจ้าโอ๋ก็ยังใช้ฝีมือมวยที่เหนือกว่าเอาชนะคะแนนไปได้ 116-112 ทั้ง 3 เสียงคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ แต่ก็ประกาศสละตำแหน่งไปบนเวทีนั่นเอง เพราะไม่อยากจะลดน้ำหนักมาชกในพิกัดนี้อีกแล้ว

หลังจากนั้นเจ้าโอ๋ก็อุ่นเครื่องชนะน็อคอีก 1 ครั้ง ก็ได้จังหวะขึ้นชิงแชมป์ซูเปอร์ไลต์เวต PABA
ที่ว่าง และก็สามารถเอาชนะคะแนน อาร์เนล ปอร์รัส คู่ชิงจากฟิลิปปินส์ไปขาดลอย คว้าแชมป์ไปครองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550

ล่าสุดเจ้าโอ๋บินไปถลุง แชด เบนเน็ตต์ อดีตแชมป์ WBF ชาวออสเตรเลียคาคอกแค่ยกแรก ป้องกันแชมป์ PABA หนแรกเอาไว้ได้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 อย่างสวยงาม


(ต้นฉบับภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์มวยสยามรายวัน)