วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ดาวรุ่ง ช.ศิริวัฒน์



ชื่อนักมวย: ดาวรุ่ง ช.ศิริวัฒน์

ชื่อจริง:
สุรพล สีแดงน้อย

วันเดือนปีเกิด:
1 เมษายน 2512

ภูมิลำเนา:
จ. อุตรดิษฐ์

สถิติ:
62-6-3; 39KO

เกียรติยศ
:
แชมป์ฟลายเวตประเทศไทย (เวทีราชดำเนิน) (2531-2532)
แชมป์แบนตั้มเวตประเทศไทย (เวทีราชดำเนิน) (2532-2535)
แชมป์แบนตั้มเวต
OPBF
(2534-2537)
แชมป์แบนตั้มเวต
WBA (2537-2538, 2539-2540)

ดาวรุ่งนั้นเดิมทีใช้สีเสื้อเทคนิคอุตรดิษฐ์ในการชกมวยสากลอาชีพช่วงแรกๆของเขา โดยหลังจากขึ้นชกชนะรวด 11 ครั้ง เขาก็ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์ฟลายเวตเวทีราชดำเนินเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2530 แต่ก็พลาดท่าแพ้คะแนน 10 ยกให้กับนักชกประสบการณ์สูงอย่าง เพชรชัยนาท ดอนเจดีย์ ชิงแชมป์ครั้งแรกไม่สำเร็จ หลังจากนั้นดารุ่งทำท่าว่าจะกู่ไม่กลับเมื่อขึ้นชนะเพียงครั้งเดียวก่อนที่จะออกนอกบ้านไปแพ้คะแนน 10 ยก บิ วอน ชุง ที่เกาหลีใต้ ก่อนจะกลับมาแพ้คะแนนเพชรชัยนาทอีกครั้งในการชิงแชมป์ฟลายเวตเวทีราชดำเนินเป็นครั้งที่ 2 แต่แล้วฟ้าก็เข้าข้างเขาจนได้เมื่อเพชรชัยนาทไปพลาดท่าแพ้น็อคเสียแชมป์ไปให้กับ แชมป์ เกียรติเพชร ดังนั้นดาวรุ่งจึงมีโอกาสชิงแชมป์เส้นเดิมอีกเป็นครั้งที่ 3 และคราวนี้ดาวรุ่งก็ไล่ทุบแชมป์แพ้น็อคไปในยกที่ 3 คว้าแชมป์ฟลายเวตเวทีราชดำเนินไปครองสมใจเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2531

ดาวรุ่งออกนอกบ้านไปเสมอกับ เร กี อาห์น ที่เกาหลีใต้เพียงครั้งเดียว ก่อนที่จะกลับมาคว้าชัยกราวรูดร่วม 10 ไฟต์
รวมทั้งชนะคะแนน 10 ยก ชูชาติ เอื้อสัมพันธ์ ได้เป็นแชมป์แบนตั้มเวตเวทีราชดำเนินอีกเส้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2532 และหลังจากที่เป็นแชมป์แล้วก็ขึ้นชกอีกหลายไฟต์มีเสมอเพียงครั้งเดียวนอกนั้นชนะรวด ในจำนวนนี้เป็นการป้องกันตำแหน่งแชมป์แบนตั้มเวตเวทีราชดำเนิน 2 ครั้ง ก่อนที่จะสบโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์แบนตั้มเวต OPBF จาก ยุง ชุง มิน แชมป์ชาวโสมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2534 และดาวรุ่งก็ชนะ TKO
ยก 7 คว้าแชมป์ระดับทวีปมาครองได้สำเร็จ

ดาวรุ่งขึ้นชก ชนะรวดอีก 14 ไฟต์ ซึ่งมีการป้องกันแชมป์เวทีราชดำเนิน 1 ครั้ง กับป้องกันแชมป์
OPBF 2 ครั้งรวมอยู่ด้วย ต่อมาดาวรุ่งได้มาอยู่ในสังกัดของโปรโมเตอร์ ทรงชัย รัตนสุบรรณ และมี อิสมาเอล ซาลาส ชาวคิวบาเป็นเทรนเนอร์ และก็ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์แบนตัมเวWBA จากแชมป์โลกชาวอเมริกัน จอห์น ไมเคิล จอห์นสัน เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2537 ที่บ้านเกิด และโชคก็เข้าข้างดาวรุ่งเพราะเมื่อลุยใส่กันแค่ยกเดียวจอห์นสันก็เกิดแผลแตกจากอุบัติเหตุหัวชนกัน แต่กรรมการมองว่าแตกเพราะหมัดจึงชูมือให้ดาวรุ่งชนะ TKO ก่อนขึ้นยกที่ 2 เป็นแชมป์โลกคนใหม่ไปทันที โดยนับเป็นแชมป์โลกคนที่ 4 ภายใต้การสร้างสรรค์ของโค้ชคิวบาผู้นี้ต่อจาก แสน ส.เพลินจิต, หยกไทย ศิษย์ อ., และ พิชิต ช.ศิริวัฒน์


เขาขึ้นป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ในบ้าน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกชนะ
TKO5 อิล ซิค โกห์ ผู้ท้าชิงชาวเกาหลีใต้ กับเสมอกับ หลักหิน ซีพียิม นักชกในเครือของยอดโปรโมเตอร์ตาหวาน "แชแม้" นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ แต่พอเขาขึ้นป้องกันแชมป์หนที่ 3 กับ วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น เจ้าของฉายา "พระกาฬหน้าขรึม" ในวันที่ 17 ก.ย.2538 ซึ่งครั้งนี้ศิษย์เอกของ "เสี่ยฮุย" สุชาติ พิสิฐวุฒินันท์ เป็นฝ่ายมีชัยในแบบไม่เป็นเอกฉันท์ (118-113, 117-114, และ 114-115) ทำให้ดาวรุ่งต้องกาลเป็นอดีตแชมป์โลกไปในทันที ซึ่งไฟต์นี้ั้นถือเป็นการชกอาชีพเพียงไฟต์ที่ 4 เท่านั้นของวีระพล และนับเป็นศึกสายเลือดคู่ที่ 5 ครั้งที่ 6 ของเมืองไทยอีกด้วย

ดาวรุ่งขึ้นอุ่นเครื่อง 4 ครั้ง ก็ได้โอกาสชิงแชมป์โลกรุ่นเดิมอีกครั้งกับเจ้าของตำแหน่งคนใหม่ นานา ยอว์ คอนาดู ที่น็อควีระพลในยกที่ 2 แย่งแชมป์มาครอง คราวนี้ชกกันมาถึง 10 ยกก็หัวชนกันจนดาวรุ่งแตกชกต่อไม่ได้ และเมื่อรวมคะแนนดาวรุ่งก็ชนะไปเอกฉันท์ 97-96, 96-94, และ 97-94 กลายเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2539 ซึ่งสมัยนี้เขาป้องกันตำแหน่งได้ 1 ครั้งด้วยการชนะคะแนน เฟลิกซ์ มาชาโด้ อย่างไม่เป็นเอกฉันท์และเฉียดฉิว

"แป๊ะยิ้ม" เมืองไทยอย่างดาวรุ่งต้องบินกลับไปให้อดีตแชมป์คอนาดูแก้มือถึงสหรัฐอเมริกา และคราวนี้ก็โดนคอนาดูถล่มเอาเละเทะแพ้
TKO
ไปในยกที่ 7 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 เสียแชมป์โลกไปในที่สุด พร้อมกับประกาศเลิกชกแขวนนวมไปหลังไฟต์นี้เอง

ปัจจุบันดาวรุ่งทำงานเป็นทหารบก พอมีพอกินตามอัตภาพ


(ต้นฉบับภาพประกอบจากเว็บไซด์ต่างประเทศ)