วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สงคราม ป.เปาอินทร์



ชื่อนักมวย: สงคราม ป.เปาอินทร์

ชื่อจริง: มนัสนันท์ หรือ ค้ำ หมดมา

วันเดือนปีเกิด
: 25 มีนาคม 2509

ภูมิลำเนา:
จ.เพชรบูรณ์

สถิติ:
23-5-2; 11KO

เกียรติยศ
:
แชมป์มินิมั่มเวต
PABA (2540-2542)
แชมป์มินิมั่มเวตเฉพาะกาล WBA (2542)

สงครามเป็นคู่แฝดกับ ชนะ ป.เปาอินทร์ อดีตแชมป์มินิมั่มเวต WBA 2 สมัย หลังจากที่สงครามประสบความสำเร็จในเชิงมวยไทย ได้คาดเข็มขัดแชมป์มวยไทยรุ่นจูเนียร์ฟลายเวตเวทีราชดำเนิน ถึง 5 สมัยด้วยกัน โดยมีสถิติการชกกว่า 100 ไฟต์ และในช่วง 3-4 ปีหลังเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเขาก็ว่าได้ เพราะมีรายได้จากค่าตัวเฉลี่ยถึงนัดละ 6 หมื่นบาท (แบ่งครึ่งกับหัวหน้าค่าย) และมีคิวชกเฉลี่ยปีละ 7-10 นัด เมื่อร้างลาเชิงมวยไทย "แชแม้" นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ ก็นำมาขัดเกลาต่อยมวยสากลตามพี่ชาย โดยหวังที่จะสร้างแชมป์โลกคู่แฝดเป็นคู่ที่ 2 ต่อจาก เขาทราย-เขาค้อ แกแล็คซี่ โดยมีค่าเหนื่อยสำหรับการชกในนัดอุ่นเครื่องนัดละ 4 หมื่นบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามสถิติการชก (แบ่งครึ่งกับหัวหน้าค่าย) สงครามชกอุ่นเครื่องกับนักชกต่างประเทศทั้งสิ้น 16 ไฟต์ ก่อนจะสบโอกาสขึ้นชิงแชมป์มินิมั่มเวต WBA ครั้งแรกแพ้ TKO 11 โรแซนโด้ อัลวาเรซ แชมป์โลกจากนิการากัวไปอย่างน่าเสียดายที่จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2540

อย่างไรก็ตามปลายปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้ครองแชมป์มินิมั่มเวต PABA หลังจากเพียรพยายามชิงตำแหน่งถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเสมอทางเทคนิคยก 3 แรนดี้ แมนกูบัท และครั้งที่ 2 ชนะคะแนนทางเทคนิคยก 5 คู่ชกคนเดิม เมื่อ 21 ธันวาคม 2540 เขาขึ้นป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 1 ครั้งก็ได้รับโอกาสชิงแชมป์มินิมั่มเวต WBA อีกครั้งในวันที่ 30 มกราคม 2542 ซึ่งตอนแรกทาง WBA ประกาศว่าเป็นการชิงแชมป์เส้นจริง แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นการชิงแชมป์เฉพาะกาลที่ว่างเท่านั้น ซึ่งสงครามก็เอาชนะเทคนิเกิ้ลโดยคะแนนในยกที่ 8 เหนือต่อ "ไอ้หัวกระโหลกไขว้" รอนนี่ มากราโม่ นักชกฟิลิปปินส์ แบบไม่เป็นเอกฉันท์ได้ครองแชมป์แบบตัวเองถูกหัวชนแตกเละ อย่างไรก็ตามอีกแค่ไม่ถึง 4 เดือนสงครามได้ไปแพ้คะแนน ฮิโรชิ มัตสุโมโตะ ในการชกนอกรอบที่ญี่ปุ่นโดยไม่แจ้งให้สถาบันทราบ ทำให้สมาคมมวยโลกไม่พอใจและปลดสงครามในที่สุด ส่งผลให้เขาเป็นนักชกไทยคนแรกที่ได้แชมป์มาแล้วถูกปลดโดยที่ยังไม่ทันได้ขึ้นป้องกันตำแหน่งแม้แต่ครั้งเดียว

และเป็นเวลาเดียวกันกับที่สงครามกำลังผิดหวังกับความรักกับภรรยาสาวบุรีรัมย์ เพราะเขาถูกภรรยาทอดทิ้งโดยเอาทรัพย์สินของมีค่าไปหมด จนทั้งเนื้อตัวตอนนั้นเขามีเงินติดตัวเพียงแค่ 5 บาทเท่านั้น ทำให้สงครามถึงกับลาบวชพระอยู่ที่วัด อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ได้ประมาณ 4 เดือน เมื่อจิตใจกลับคืนมาดังเดิมสงครามจึงพยายามกลับมาต่อยมวยอีกหลายครั้งแต่ก็แพ้บ้างชนะบ้าง ล่าสุดสงครามไปชกแพ้คะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ให้กับ คาสึนาริ ทาคายาม่า ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2545 (ต่อมาทาคายาม่าได้เป็นแชมป์มินิมั่มเวต WBC) ได้เงินมาไม่เท่าไหร่และจากนั้นเขาก็ไม่ได้ขึ้นชกมวยอีกเลย เพราะเบื่อวงการ ก่อนบินกลับมาบวชเป็นพระอีกรอบอยู่ที่วัดเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี

เมื่อครั้งแขวนนวมรอบแรก สงครามที่มีความรู้เพียงแค่จบ ป. 6 ก็เลยต้องร่อนเร่ทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เคยไปรับจ้างขนเสื้อผ้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ ขายซีดีที่ตลาดคลองถม ทำงานที่โรงงานปั๊มเหรียญและพระที่คลองถม และที่นี่สงครามก็ได้พบรักใหม่กับภรรยาคนปัจจุบันที่มีอายุมากกว่าถึง 7 ปี "จอมขวัญ หมดมา" ซึ่งปัจจุบันนี้มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน อายุขวบเศษชื่อว่า "เรืองโรจน์ หมดมา" และต่อมาเขาก็ได้ทำงานปันกงานดูแลร้านและดูแลรถยนต์ 13 เหรียญ สาขาบางใหญ่ ด้วยความช่วยเหลือจาก พล.ต.ต.ประจวบ เปาอินทร์ และเช่าห้องอาศัยอยู่ใกล้ค่าย ป.เปาอินทร์คนเดียว โดยต้องเข้างานตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงตี 4 ทุกวัน ได้เงินค่าจ้างวันละ 300 กว่าบาท (ตกเดือนละ 1 หมื่นบาท) และทิปจากแขกเล็กน้อย และจะไปหาลูกและภรรยาที่บ้านทุกวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุด โดยเมื่อรวมรายได้ของเขากับภรรยาที่ได้ค่าจ้างประมาณ 8000 บาทต่อเดือน เขาก็จะมีรายได้ทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน แต่เพราะว่ายังต้องจ่ายค่าหนี้สินและเลี้ยงดูลูกวัยกำลังโต และยังมีภรรยาคนที่ 2 อีกคนที่เข้ามาในชีวิต จึงทำให้ชีวิตวันนี้ของสงครามจึงต้องลำบากสักหน่อย แต่เขาก็จะสู้ชีวิตต่อไป

ล่าสุดสงครามได้พาภรรยาคนที่ 2 เข้าพบ พ.ต.อ. สุรัศม์ อุดมรัตน์ เพื่อของานทำ แต่กลับตกเป็นข่าวใหญ่โตว่าตนเองกำลังขัดสนหนักด้วยความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามสงครามก็ได้รับการติดต่อให้ช่วยเป็นวิทยากรในแผนกสงเคราะห์และคุ้มครอง เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนถึงศิลปะป้องกันตัว นอกจากนี้ พ.ต.อ. สุรัศม์จะหารือกับผู้บังคับบัญชา เพื่อให้บรรจุเป็นลูกจ้าง หรือนักการทำงานประจำต่อไป ส่วนภรรยาคนที่ 2 จะฝากให้ทำงานที่ร้านขายโทรศัพท์ต่อไป

(เนื้อหาบางส่วนจาก "สู้ชีวิตไปกับ สงคราม ป.เปาอินทร์ "สูงสุดคืนสู่สามัญ"" โดย ทีมข่าวมวยสยาม นสพ.มวยสยาม ทูเดย์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4253 วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2548, "แชมป์โลกตกอับ! "สงคราม" เด็กรับรถ" นสพ.ข่าวสด ปีที่ 15 ฉบับที่ 5416 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2548, "ผ่าชีวิต สงคราม ป.เปาอินทร์ "หมาไล่เนื้อ" หรือ "ไม่ประมาณตน"" โดย ทีมข่าวมวยสยาม นสพ.มวยสยาม ทูเดย์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4394 วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2548, ต้นฉบับภาพประกอบจากนิตยสารมวยโลก)