วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ชาติชาย เชี่ยวน้อย



ชื่อนักมวย:
ชาติชาย เชี่ยวน้อย

ชื่อจริง: ริศ เชี่ยวน้อย

วันเดือนปีเกิด: 10 ตุลาคม 2485

ภูมิลำเนา:
จ. กรุงเทพ

สถิติ:
63-18-3; 37KO

เกียรติยศ
:
แชมป์ฟลายเวต OPBF
(2505-2506)
แชมป์ฟลายเวตเดอะริงก์ (2509-2512
)
แชมป์ฟลายเวต WBC (2509-2512, 2513
)
แชมป์ฟลายเวต WBA (2516-2518)


ชาติชายจัดเป็นนักมวยไทยคนหนึ่งที่ออกไปชกหากินนอกบ้านมากมายหลายต่อหลายครั้ง ทั้ง กัมพูชา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อังกฤษ สหรัฐ หรือแม้กระทั่งปานามาก็เคยไป เขาจึงเป็นนักมวยไทยที่บินไปชกในต่างประเทศมากที่สุด ได้ขับเคี่ยวกับนักมวยชาติต่างๆถึง 12 ชาติ ซึ่งเป็นการชกเกี่ยวกับตำแหน่ง 13 ครั้ง และเป็นแชมป์โลก 3 สมัยเช่นเดียวกับโผน กิ่งเพชรและกระบวนนักมวยแชมป์โลกชื่อดัง แต่ฉายาไม่ยักเด่นตาม.. ไม่ได้มีแค่ โผน กิ่งเพชร คนเดียว ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกชาวไทยคนนี้ก็เหมือนกันเด๊ะ..!

ชาติชายเริ่มไต่เต้าบนเส้นทางมวยสากลในสังกัด "แหลมฟ้าผ่า"มาก่อนจะใช้ "เชี่ยวน้อย" อันเป็นนามสกุลของตัวเอง โดยเป็นรองแชมป์โลกเมื่อปี 2504 กว่าจะขึ้นถึงจุดสูงสุดได้ครองแชมป์โลกของเดอะริงก์และ WBC โดยชนะ TKO (แตก) ยก 9 วอลเตอร์ แม็กโกแวน เมื่อ 30 ธันวาคม 2509 ก็ใช้เวลาถึง 5 ปี

ชาติชายป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 4 ครั้งก็เสียแชมป์ให้กับทาง "ไอ้แมงป่อง" เอฟเฟรน "เอล อลาคราน" ทอร์เรส คู่ปรับเก่าที่เขาเคยชนะ TKO ในยก 13 เมื่อคราวป้องกันหน 2 โดยคราวนี้ชาติชายถูกต่อยตาขวาปิดและแพทย์สนามเจ้าบ้านเม็กซิโกก็ยุติการชกไปในยกที่ 8 เท่านั้น แต่ปีถัดมาชาติชายก็ล้างตาได้สำเร็จด้วยการกลับมาชนะคะแนน 15 ยก ในบ้าน แย่งตำแหน่งของ WBC เพียงเส้นเดียวมาครองได้อีกหน หลังจากที่ทอร์เรสถูกปลดจากตำแหน่งของเดอะริงก์แก่อนหน้า

แต่เขาก็ครองตำแหน่งหนที่ 2 อยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน ก็ถูกนักชกฟิลิปปินส์ เออร์บิโต้ ซาลาวาร์เรีย บุกมาเอาชนะ TKO ยก 2 ถึงกรุงเทพ แต่นัยว่าไฟต์นั้นชาติชายอาจจะถูกมือดีลอบวางยา
!

อย่างไรก็ตามชาติชายได้ชิงแชมป์โลกอีกครั้งกับ มาซาโอะ โอห์บะ แต่เป็นตำแหน่งของ WBA ในอีก 3 ปีต่อมา แต่ก็พลาดท่าพ่าย TKO ยก 12 ชิงแชมป์ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดีดวงคนจะเป็นแชมป์โลกอีกหนอะไรก็ฉุดไม่อยู่ ชาติชายได้โอกาสชิงแชมป์ฟลายเวต WBA ที่ว่างลอีกครั้ง เพราโอห์บะเกิดดวงถึงฆาตรถคว่ำเสียชีวิตไปไม่นานักหลังจากชนะชาติชาย โดยไฟต์นี้เขาได้ขึ้นชิงกับนักชกสวิสเซอร์แลนด์ ฟริตซ์ เชอร์เว็ต ที่กรุงเทพ และขาก็เอาชนะ TKO ไปในยกที่ 5 ได้เป็นแชมป์โลกฟลายเวตอีกครั้งเป็นสมัยที่ 3

ชาติชายก็ต้องเสียแชมป์ให้กับ ซูซูมุ ฮานากาตะ ในอีกปีถัดมา คราวนี้ชาติชายลดน้ำหนักไม่ลง ถูกริบเข็มขัดคาตาชั่งไปก่อนแล้ว และเมื่อชกกันจริงก็พ่าย TKO ยก 6 อันส่งผลให้นักชกญี่ปุ่นกลายเป็นแชมป์โลกคนใหม่โดยอัตโนมัติเมื่อ 18 ตุลาคม 2517 ที่โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น และรูดม่านปิดฉากชีวิตนักมวยครั้งสุดท้ายที่ประเทศปานามา เมื่อสิงหาคม 2518

ชาติชายใช้ชีวิตบนสังเวียนเลือดอยู่ยาวนานถึง 15 ปี สถิติการชกกว่า 80 ครั้ง เป็นนักสู้ชาวไทยผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์กำปั้นต้องจารึกไว้ในตำนาน โดยสไตล์การชก ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักมวย "ไฟเตอร์" คือเดินหน้าลุย หมัดขวาหนัก และชนะคู่ต่อสู้โดย KO เป็นส่วนมาก แน็ต แฟล็ตเชอร์ บรรณาธิการนิตยสาร"เดอะริง"อันทรงอิทธิพล จึงตั้งฉายาว่า "มาร์เซียโนน้อยแห่งเอเชีย" โดยยกย่องว่ามีหมัดหนักน้องๆ ร็อกกี้ มาร์เซียโน "หมัดภูผาหิน" อดีตแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ชาวสหรัฐเลยทีเดียว แต่แปลกแฟนๆไม่นิยมเรียกตาม หรือจะเป็นเพราะว่าฉายามันยาวเกินก็ไม่ทราบ?

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิด 10 ตุลาคม 2485 ขณะนี้อายุ 62 ปีแล้ว มีฐานะดี เป็นเจ้าของที่ดิน 20 กว่าไร่ แถวคลอง 6 อ.ธัญบุรี ปทุมธานี ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ตอนชกมวย ตอนนี้ให้ลูกชายดูแล ส่วนตนเองและศิรินทร ภรรยาหลบขึ้นเหนือไปปลูกไม้หอมอยู่ที่ดอยสูง ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรมวยระดับโลกทุกครั้งเมื่อได้รับเชิญ

(เพิ่มเติมจากบทความ "มาร์เซียโนน้อยแห่งเอเชีย" ฉายาของชาติชายใครตั้งให้ คอลัมน์ ฉายาชาวยุทธ์ โดย สว่าง สวางควัฒน์ นสพ.ข่าวสด ฉบับที่ 5123 วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2547 ปีที่ 14, ต้นฉบับภาพประกอบจากนิตยสารโลกกำปั้น)

Special Article

ชาติชาย เชี่ยวน้อย: Still Going Strong, Part 1

ถอดความจากงานเขียนของ “สก็อตต์ มอลโลน” ในเว็บไซด์ The Sweet Science

เขาเป็นแชมเปี้ยนโลกคนที่ 2 ของเมืองไทยต่อจาก โผน กิ่งเพชร และได้รับเลือกเป็น “ปูชนียบุคคล” ของวงการมวยของไทย เขาเป็นนักมวยคนหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ของชาวไทยทรงชื่นชอบเป็นพิเศษ ซึ่งทรงเคยรับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาแล้ว และบ่อยครั้งที่เขาคนนี้ได้รับคำยกย่องจากสาธารณชนทั่วไป เขาเป็นแฟมิลี่แมนที่น่ายกย่อง เพราะเขาสามารถสร้างชีวิตที่สุขสบายให้กับภรรยาและลูกๆทั้ง 4 คน เขาเป็นที่เคารพนับถือของนักชกรุ่นหลังมากมาย รวมถึง สามารถ พยัคฆ์อรุณ, เมืองชัย กิตติเกษม, สมาน ส.จาตุรงค์, และ สด จิตรลดา อีกด้วย

ผมจับรถไฟจากกรุงเทพตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อจะไปที่บ้านของชาติชายที่เชียงใหม่ ซึ่งผมไปถึงตอนค่ำๆของเย็นวันเดียวกัน ลูกชายของเขา “บอย” ได้ถูกมอบหมายมารับผมที่สถานีรถไฟตามสไตล์ของคนไทย ผมบอกว่ามีโรงแรมสำรองเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่พวกเขาว่าไม่จำเป็นอะไรเลยผมสามารถค้างที่บ้านของพวกเขาได้ พวกเรามาหยุดรับประทานอาหารเย็นกันที่ภัตตาคารมีชื่อแห่งหนึ่ง เราใช้เวลา 45 นาทีเดินทางจากในตัวเมืองสู่บ้านของเขาที่เชิงเขา

บ้านของเขาอยู่บนเชิงเขาที่ห่างจากจากถนนสายหลักราวๆ 200 หลา ด้านหลังบ้านของเขาเต็มไปด้วยต้นไม้หลายร้อยต้นเรียกว่าเป็นป่าสีเขียวเลยก็ว่าได้ ต้นที่สูงที่สุดนั้นอยู่หลังบ้านของเขาพอดี เมื่อยืนอยู่ที่ธรณีประตูของบ้านแล้วมองออกไปก็จะเห็นยอดดอยสุเทพได้พอดี มีทุ่งหญ้าผืนเล็กๆกั้นระหว่างบ้านของเขากับคลองแคบๆทอดยาวออกไปบรรจบกับต้นไม้หลากหลายต้นก่อนที่จะถึงถนนสายหลัก ดังนั้นก่อนจะถึงบ้านของเขาอย่างแรกคุณต้องข้ามสะพานไม่เก่าคร่ำคร่ายาวร่วม 20 ฟุต แถมชันถึง 45 องศาผ่านคลองแคบๆนั้นก่อน และเมื่อข้ามมาแล้วก็ยังต้องเดินเท้าอีกกว่า 100 หลาผ่านพุ่มไม่เล็กๆจำนวนมากก่อนที่จะถึงตัวบ้านในที่สุด

บ้านของเขาเปรียบเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ที่มีเรื่องต่างๆที่น่าจดจำของอดีตแชมป์ฟลายเวตโลก 3 สมัยแสดงอยู่ มันเป็นบ้านไม้สไตล์ไทยโบราณ 2 ชั้น ที่มีเสาไม้ขนาดใหญ่หลายต้น แลดูเรียบง่ายสบายๆ คุณสามารถที่จะเก็บเกี่ยวรายละเอียดของชีวิตและความทรงจำเกี่ยวกับเขาได้จากฝาผนังบ้านหลังนี้

คืนแรกที่เราพักอยู่ที่บ้านหลังนี้เราได้หลับเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นในช่วงเช้ามืด ในตอนกลางวันเราคุยกันต่อในหลายต่อหลายเรื่องในชีวิตของเขาซึ่งแน่นอนว่าจะต้องรวมถึงเรื่องมวยด้วย เรื่องของครอบครัวและความผูกพันเป็นหัวเรื่องหลักในการสนทนาที่ยาวนานของเรา ช่วงเวลาที่เราพูดถึงการชกมวยและอื่นๆอีกหลายสิ่งมันช่างน่ารื่นรมย์เปรียบเสมือนเรามาเที่ยวน้ำตกประวัติชีวิตของชาติชายยังไงยังงั้น ตกกลางคืนเรารับประทานอาหารเย็นด้วยการปิ้ง B-B-Q รวมถึงสนมนาถึงชีวิตโสดและชีวิตสมรส ผมไม่เพียงสัมภาษณ์เขาแต่ยังมองลึกไปถึงชีวิตของเขาและครอบครัวทั้งก่อนและหลังการชกมวยอีกด้วย

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเขา "อู๊ด" ภรรยาวัย 45 ปีของเขา เป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนคู่คิดที่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลา เว้นเพียงแต่ตอนที่เขาขึ้นเวทีและต่อสู้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเธอรู้สึกว่าเธอต้องรับหมัดของคู่ต้อสู้กับเขาด้วยเช่นกัน

เมื่อครั้งแรกที่ผมพบกับชาติชาย ผมฟังเขาพูดไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เหมือนๆกับนักมวยรายอื่นๆ ที่กรำศึกหนักมาหลายต่อหลายไฟต์ เขาพูดค่อนข้างช้า แรกทีเดียวผมผมคิดว่าเขาคงจะเป็นพาร์กินสันหรือไม่ก็อัลไซเมอร์ ซึ่งภายหลังผมทราบว่าทุกวันนี้แพทย์ก็ยังไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวนี้คืออะไร เพียงแต่เชื่อว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากการชกมวยเท่านั้น และทุกๆ 3 เดือนเขาก็จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการเป็นประจำ

ในวันหนึ่งๆเขาจะยกมือโบกบอกผมหลายครั้งว่าเขารู้สึกบ้านหมุน โคลงเคลง และปวดศีรษะ บางทีก็จะดูสับสนเลอะเลือนไปบ้าง เขาบอกว่าเมื่อเขาอยู่ในห้องที่มีคนมากๆที่พูดคุยกันวุ่นวายอาการปวดหัวก็จะเกิดขึ้นเสมอๆ นั่นเองเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาและภรรยาตัดสินใจเดินทางมาอยู่ที่ย่านชนบทของเมืองเชียงใหม่ที่สงบเงียบและผึคนไม่แออัดวุ่นวาย

ในระหว่างการสนทนากับเขานั้น เขามักจะถามผมบ่อยๆถึงครอบครัวของผมและถามว่าผมมีลูกกี่คนแล้ว และผมก็จะตอบเขาไปว่า “ครับ ผมแต่งงานแล้วกับผู้หญิงไทย ตอนนี้เธออยู่ที่กรุงเทพและดูแลลูกๆแทนผมอยู่” ความจำระยะสั้นของเขาดูเหมือนว่าไม่ใคร่ดีนัก แต่ความจำระยะกลางและระยะยาวนั้นยังคงเป็นเลิศอยู่

ผมไม่อาจที่จะอ่านสีหน้าของเขาได้ง่ายนัก มันช่างคล้าย มูฮัมหมัด อาลี มาก สีหน้าเขาดูราบเรียบและน้ำเสียงการพูดก็ดูเรียบๆเช่นกัน ชีวิตของเขาไม่ได้ยากไร้หรือแร้นแค้น เขามีที่ดินหลายต่อหลายแห่งในเมืองไทย ซึ่งภรรยาและลูกๆทั้ง 4 คนของเขาต่างช่วยเขาดูแลมันอยู่ พวกเขาภาคภูมิใจในความสำเร็จของชาติชายซึ่งต้องสูญเสียหยดเลือด หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตา และทำทุกอย่างเพื่อพวกเขามาโดยตลอด

ในตอนท้ายสุด ผมถามเขาว่า สิ่งต่างๆที่เขาได้มาจากการชกมวยนั้นมีคุณค่าทางจิตใจมากเพียงใด เขาตอบว่า “แน่นอน”

“การชกมวยนำสิ่งที่ดีมากมายมาสู่ผมและครอบครัว” ชาติชายตอบ “บางครั้งผมรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมองเข็มขัดแชมป์ของผมและภาพบนผนังบ้าน แต่หากย้อนเวลาไปได้ผมก็ไม่คิดว่าผมจะเลือกหนทางอื่นๆ แทนการชกมวยหรอก”

ถึงทุกวันนี้ก็ 31 ปีแล้วที่ชาติชายขึ้นชกมวยเป็นไฟต์สุดท้าย แต่ใบหน้าและชื่อของเขายังคงเป็นที่จดจำกันทั่วทั้งเมืองไทยและทั่วทั้งโลก ตัวอย่างเช่นเมื่อกลุ่มของเราออกไปเดินไปซื้ออาหารในตลาดข้างทาง มีผู้หญิงรายหนึ่งพูดถามเราว่า “ผู้ชายคนนั้นเป็นนักมวยเก่าใช่ไหม ? เขาคือชาติชายใช่ไหม ?” ซึ่งชาติชายก็ยิ้มอย่างมีความสุขและโบกมือทักทายอย่างเป็นกันเอง เขาดูมีความสุขที่มีคนจดจำเขาได้ แต่เขาก็ดูเขินๆอยู่เหมือนกัน

ชาติชาย เชี่ยวน้อย

ช่วงเวลาชกมวย: 1957 – 1975
แชมป์: WBC Flyweight (1966-1969, 1970), WBA Flyweight (1973-1974), OPBF (1962, 1963)
ชัยชนะที่น่าจดจำ: เอเฟรน ทอร์เรส, วอลเตอร์ แม็คโกแวน, ซาลวาตอเร่ เบอร์รูนี่ย์, เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย, และ ฟริซ เชอร์เว็ต
พ่ายแพ้ที่น่าจดจำ: มาซาโอะ โอห์บะ, เอริเบอร์โต้ ซาลาวาร์เรีย
ชื่อจริง: นริส เชี่ยวน้อย
ประเทศ: ไทย
ภูมิลำเนาปัจจุบัน: เชียงใหม่, ประเทศไทย
บ้านเกิด: กรุงเทพ, ประเทศไทย
พิกัดรุ่น: ฟลายเวต
วันเดือนปีเกิด: 10 ตุลาคม 1942
การ์ดมวย: ขวา
ผู้จัดการ: บุญเลิศ ฤกษ์พิชา และประยุทธ พิศาลบุตร
BoxRec record: 63-18-3
* ครอบครัวของชาติชายยืนยันว่าสถิติของ BoxRec นั้นไม่ครบถ้วน สถิติที่ถูกต้องซึ่งรวมถึงการชกมวยหลายไฟต์ในประเทศไทยที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่าเงป็นทางการ 80-20-3 และกำลังได้รับการแก้ไขซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน 2006

Special Article

ชาติชาย เชี่ยวน้อย: Family Man and Fighter, Part 2

ถอดความจากงานเขียนของ “สก็อตต์ มอลโลน” ในเว็บไซด์ The Sweet Science


ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากทีผมมาถึง ผมได้รับการบอกว่าปั๋มน้ำไม่ทำงาน และผมสามารถที่จะใช้น้ำจากคลองมาชำระร่างกายแทนได้ พวกเขาคิดว่าจะไปเอาน้ำขึ้นมาให้ผมใช้ แต่ผมคิดว่าผมสามารถที่จะอาบน้ำกลางแจ้งก็ได้ คลองเล็กๆแห่งนั้นห่างจากบ้านของเขาร่วมร้อยกว่าหลา และมีพุ่มไม่เรียงรายล้อมรอบ น้ำในคลองนั้นใสและเย็นสบายเหมาะสำหรับอาบมากทีเดียว และในเวลาต่อมาพวกเขาก็ได้ออกไปซื้อปั๊มน้ำมาเปลี่ยนใหม่ และทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

อู๊ดขอโทษผมเรื่องที่ไม่มีน้ำใช้ เป็นเพราะพวกเขาพึ่งกลับจากการไปเยี่ยมลูกสาวที่กรุงเทพ เลยไม่มีเวลาพอที่จะเปลี่ยนปั๊มเสียก่อน นอกจากนี้ยังกล่าวขอโทษที่ต้นไม้รอบๆบ้านดูไม่เรียบร้อยซึ่งเธอว่ามันควรจะได้รับการตัดตกแต่งได้แล้ว

การสำภาษณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นที่บ้านที่เชียงใหม่ของชาติชายโดยใช้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษปนกัน ทั้งชาติชายและภรรยานั้นพูดภาษาอังกฤษได้พอสมควร ดังนั้นเราจึงผสมผสานทั้งภาษาไทยและอังกฤษในการสนทนาของเราครั้งนี้ ผมและชาติชายนั่งอยู่บนโซฟาข้างๆกันพูดคุนกันและใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 3 วัน มีเบรคบ้างช่วงสั้นๆ และบทสนทนาต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพูดคุยของเรา

มอลโลน: ตอนนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ก็ดีครับ เพียงแต่ผมปวดฟัน มันปวดมากจริงๆ

มอลโลน: ปวดฟันรึ? ทำไมคุณไม่ไปหาหมอฟันเล่า?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ไม่..ไม่ ผมไม่ชอบหมอฟัน

อู๊ด ภรรยาของเขาเดินเข้ามาและบอกผมว่า “เขาไม่ไป เพราะเขากลัวหมอฟัน”

เป็นเวลาเดียวกับที่ลูกชาของเขา “บอย” ได้นำช็อคโกแล็คเวเฟอร์แบบไทยๆมาให้เรา มันเหมือน Kit-Kat มาก แต่ดูบางกว่า และมีเพียง 1 ชิ้นต่อ 1 ห่อ ซึ่งถุงนั้นน่าจะมีราวๆสัก 50 ชิ้นเห็นจะได้ ผมรับประทานไปเล็กน้อย ชาติชายยิ้มและคว้าเอาไป 1 กำมือ เขาแกะห่อออกอย่างรวดเร็วแล้วกินมัน มันเหมือนกับการกินมันฝรั่งยังไงยังงั้น ที่เมื่อคุณเริ่มต้นกินมันก็จะหยุดได้ยาก และชาติชายก็ไม่หยุดที่จะกินมันเลย เขาคงมีวิธีรักษาความฟิตของร่างกายสักอย่าง แม้ว่าเขาจะชอบกินช็อคโกแล็คเวเฟอร์และหยุดชกมวยมามากกว่า 30 ปีก็ตาม

อู๊ด: เขากินมันทุกวันเลยล่ะ ถ้าฉันให้เขาทั้งถุงเขาก็จะกินมันจนหมดถุงนั่นแหละ ดังนั้นฉันจึงมักจะให้เขาทีละน้อยๆ

ชาติชายเคี้ยวช็อคโกแล็ตเวเฟอร์เสียงดังกรวบๆไม่หยุด บนโต๊ะกาแฟตอนนี้มีสัก 3-4 ชิ้นเห็นจะได้ แต่ในกระเของเขากลับมีมันเต็มไปหมด

เมื่ออู๊ดเดินจากไป เขาก็ยกนิ้วขึ้นจุ๊ปากและมองมาที่ผม

ชาติชาย: จุ๊ๆๆ.....อย่าบอกเธอนะ
มอลโลน: ผมไม่บอกเธอหรอก แต่ถ้าคุณกินมันหมดนั่นคุณอาจจะต้องปวดฟันอีกแน่?

เขาส่ายหัวเหมือนกับไม่เชื่อว่าเขาจะปวดฟันเพราะมัน

Note – การสนทนากับชาติชายนั้นเริ่มขึ้นในวันแรกที่ผมมาถึงเชียงใหม่ แรกทีเดียวผมคิดว่าเขาจะพูดถึงสิ่งที่คนแก่ๆชอบพูดกันแบบไม่ใช่อดีตแชมป์แน่ แต่เมื่อเขาพูดถึงการชกมวยผมจึงรู้ว่าเขายังคงมีไฟแห่งนักสู้อยู่มาก

ผมบอกว่าเขาควรจะหยุดกินมันแล้วไปหาหมอฟันได้แล้ว แต่ผมก็กล่อมเขาไม่สำเร็จ การไปหาหมอฟันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา และเขาบอกว่าจะไม่ไปหาหมอฟันอย่างเด็ดขาดถ้าเขาไม่ปวดมากจนทนไม่ไหว

เมื่อผมเดินทางไปไหนก็ตามจะมีการเตรียมยาไปด้วยเสมอ มันจะมีตั้งแต่ยาแก้ฟกช้ำ แก้ปวด แก้ท้องเสีย ผมถามเขาว่าถ้าเขาต้องการยาแก้ปวดสัก 2 เม็ดล่ะก็ผมจะหาให้เขาในทันที “ได้เลย คุณมีเหรอ?” ผมยื่นยาโคเดอีนขนาด 60 ม.ก. 2 เม็ดให้กับเขา ซึ่งผมเชื่อว่าพอเพียงต่อการลดอาการปวดฟันของของเขาได้แน่
หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ง่วงและหลับอยู่บนโซฟานั่นเอง และเมื่อเขาตื่นผมถามเขาว่าดีขึ้นหรือไม่ และผมก็ประหลาดใจเมื่อเขาตอบว่า “ไม่ ผมยังปวดเหมือนเดิม ยาไม่ช่วยผมเลย ผมยังคงปวดฟันไม่หาย”

อันที่จริงยาขนาดนั้นน่าที่จะทำให้เขาดีขึ้นและหายปวดฟันได้ แต่เขายังคงปวดมากเช่นเดิม

มอลโลน: นอกจากปวดฟันแล้ว อย่างอื่นๆล่ะคุณเป็นอย่างไรบ้าง?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ผมก็โอเคนะ ผมยังสบายดีอยู่ แล้วคุณล่ะสบายดีไหม ผมดีใจที่ได้อยู่ที่นี่นะ

มอลโลน: ผมก็รู้สึกสบายดีที่อยู่ที่นี่นะ ที่นี่สวยมาก คุณคงจะชอบมันมากแน่ๆ
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: บ้านของผมแม้ว่าจะไม่ใหญ่โตหรูหรา แต่มันก็เงียบสงบ และผมก็รู้สึกดีเมื่ออยู่ที่นี่ ตอนเช้าๆผมมักจะมักจะออกมานั่งนอกบ้านฟังเสียงนกร้อง ผมว่ามันดีนะ

มอลโลน: คุณอยู่ที่นี่ตลอดเวลา หรือบางทีก็ไปอยู่ที่อื่นบ้าง?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: เราไปหาลูกสาว “บี” ที่กรุงเทพเดือนละ 1 ครั้ง เราจะค้างที่นั่นประมาณ 2 อาทิตย์ หลังจากที่ผมเอาชนะแม็คโกแวนได้สำเร็จ ผมก็ได้เข้าเฝ้าพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่าตรัสถามว่า “ถ้าคุณต้องการสิ่งใดสักอย่างและเราให้ได้คุณอยากจะได้อะไร” ผมจึงขอพระราชทานชื่อลูกสาวจากท่า และท่านก็ตั้งชื่อให้เธอว่า “บี”

มอลโลน: ผมรู้สึกว่าคุณปวดหัวอยู่เกือบตลอดเวลา มันเกิดอะไรขึ้นกับคุณ คุณรู้ไหม?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ใช่ผมรู้สึกปวดหัวตลอดเวลา

มอลโลน: ผมว่าบางทีมันอาจจะเกี่ยวกับอาการปวดฟันของคุณก็ได้?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ไม่หรอก…ผมปวดหัวมานานแล้ว ส่วนฟันนี่ผมเพิ่งจะปวดได้ราวๆ 2-3 เดือนเอง บางครั้งผมก็มึนๆและรู้สึกบ้านมุน เมื่อผมมีอาการขึ้นมาผมต้องพักและอยู่เงียบๆ

ระหว่างที่ผมอยู่ที่นี่ผมสังเกตุว่าชาติชายจะต้องงีบหลับบ่อยๆในระหว่างวัน หรือต้องไปเข้านอนบ่อยๆตามที่เขารู้สึกต้องการ

มอลโลน: คุณอยู่ที่นี่มานานเท่าไหร่แล้ว?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ประมาณ 3 ปีแล้ว แต่เรามีที่ดินมากว่า 14ปีเห็นจะได้

มอลโลน: บ้านของคุณมีสิ่งของที่น่าจดจำเกี่ยวกับมวยมากเหลือเกิน อะไรที่ทำให้คุณเลือกเล่นกีฬานี้?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: เมื่อผมยังเป็นเด็กผมได้ดู จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ทางทีวี และก็อยากเป็นอย่างเขาบ้าง ผมจึงเริ่มหัดมวยที่โรงเรียนและผมก็ทำได้ดีด้วย ก็เลยชกมวยเรื่อยมา

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1954 ที่สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงเทพ จำเริญขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวตกับนักชกออสเตรเลีย จิมมี่ คาร์รัทเธอร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไฟต์นั้นทั้งคู่ต้องชกกันกลางฝนและต้องถอดรองเท้าชก คุณสามารถหาดูภาพนั้นได้จาก Ring Magazine ของ แน็ต เฟลียสเชอร์ และเพราะว่าฝนตกอย่างหนักนี่เองไฟต์ดังกล่าวจึงถูกลดจำนวนยกจาก 15 เหลือ 12 ยก

ชาติชายขึ้นชกมวยครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 14 ปี และเขาขึ้นชกติดต่อกันมานานถึง 18 ปีเลยทีเดียว

มอลโลน: คุณเคยชกมวยไทยมาก่อนหรือไม่?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ไม่, ไม่เคยเลย หลังจากผมเริ่มหัดมวยที่โรงเรียนผมก็ติดใจเสีย

มอลโลน: มันแปลกนะ นักชกไทยส่วนใหญ่มักจะเคยชกมวยไทยมาก่อน
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: เมื่อผมหัดมวยผมยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลย และเมื่อผมเจอภรรยาของผมและเราก็แต่งงานกันในขณะนั้นเอง เมื่อคุณมีครอบครัวที่คอยสนับสนุนให้คุณทำในสิ่งที่ต้องการคุณก็สามารถทำมันได้ สิ่งที่ผมต้องการทำก็คือการชกมวย ภรรยาของผม...เธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ผมรัก โปรโมเตอร์หลายคนเคยส่งผู้หญิงมาที่ห้องพักของผม ส่งผู้หญิงไปดูผมซ้อมที่ยิม แต่ผมก็ไม่สนใจเพราะผมรักภรรยาของผมคนเดียวเท่านั้น

มอลโลน: เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นไม่บ่อยหรอกนะ มีการชกไฟต์ไหนบ้างที่คุณประทับใจไม่ลืม?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ผมชอบทุกไฟต์กับ เอเฟรน ทอร์เรส นอกจากนั้นก็มีไฟต์กับมิรันด้าซึ่งชกยากมาก เพราะเขาไม่เคยคิดว่าจะขึ้นมาชกมวยกับผม เขาขึ้นมาเต้นเท่านั้น ผมจึงเกลียดไฟต์ที่ชกกับเขาคนนี้มากๆ ส่วนกับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน ผมชอบหัวใจนักสู้ของเขา อีกอย่างเขาชกสุภาพมาก

อู๊ด: คุณรู้ไหมว่าชาติชายนั้นเป็นคนแต่งตัวได้เนี้ยบมาก

เมื่อเอ่ยถึงการแต่งกายวัยรุ่นยุคทศวรรษที่ 60 ต่างพากันก๊อปปี้ทรงผมของชาติชายเป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาจะเข้าไปบอกช่างตัดผมว่า “เอาทรงชาติชายก็แล้วกัน”

มอลโลน: คุณจำหมัดที่โดนต่อยได้สักหมัดไหม? นักมวยที่คุณเคยชกด้วยคนใดที่คุณคิดว่าต่อยหมัดได้หนักหน่วงจนคุณจำได้ไม่ลืม?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: นักมวยยุคนั้นหมัดหนักทุกคนซึ่งผมยังจำได้ดีเกี่ยวกับการชกทุกๆไฟต์เสมอ จนบางทีผมก็เอามาฝันว่าผู้จัดการของผมสั่งให้ “ชกซ้าย-ชกขวา-ชกซ้าย เดินลุยไปเลย อย่าถอยหลัง โยกหัวเข้าไป”

มอลโลน: อะไรที่ทำให้คุณเลิกชกมวย และเมื่อเลิกชกแล้วคุณทำอะไรบ้าง?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: มันถึงเวลามากกว่า ผมชกมวยมากว่าครึ่งชีวิตของผมแล้วในตอนนั้น และผมก็รู้ว่ามันถึงเวลาแล้ว มันไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าทำไม หลังจากแขวนนวมแล้วผมก็พักผ่อนและให้เวลากับลูกๆ

มอลโลน: ซึ่งคุณก็ยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ผมไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากพัก! ผมชอบความสงบเงียบของเชียงใหม่ บางคราวผมก็เข้าไปในเมืองเพื่อซื้อข้าวของ แต่บางคราวผมก็สามารถไปเที่ยวน้ำตกได้ มันเป็นที่ที่น่าพักผ่อนของเราจริงๆ

ห่างจากบ้านของเขาเพียง 15 นาที ก็จะถึงริมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีน้ำตกหลายสายด้วยกัน

มอลโลน: บ้านของคุณยังเป็นที่พักผ่อนที่ไม่เพียงพออีกหรือ?!
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: บางทีมันก็เบื่อ เลยต้องไปที่อื่นบ้างก็เท่านั้น

มอลโลน: ลองเล่าถึงไฟต์ที่คุณชกกับโอบะสักหน่อย คุณถูกน็อคในยกที่ 12 มันเกิดอะไรขึ้น?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ตั้งแต่เริ่มต้นผมต่อยเขาร่วงในยกที่ 1 หรือ 2 แต่กรรมการกลับจับตัวเขาเขย่าพร้อมกับนับไปด้วยทำให้เขาฟื้นตัวทัน! ไม่เพียงแต่นับช้ามากเท่านั้น ในยกปลายๆผมถูกต่อยร่วงเขาก็นับและจับผมแพ้ไปอย่างรวดเร็ว

ลูกชายของเขา “บอย” เข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย “พ่อชกได้ไม่เต็มที่ในไฟต์นั้น เพราะมีคนเอาอะไรใส่อะไรให้เขาดื่มด้วย ซึ่งเราคิดว่าเป็น LSD (เหล้าแห้ง) เพราะอาการที่เขาแสดงออกมาก่อนการชก”

มอลโลน: แสดงว่าเขาได้รับ LSD ก่อนการชก?
บอย: ใช่, เราคิดอย่างนั้น.

มอลโลน: ชาติชาย, คุณใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากที่เดียว คุณไปเรียนมากจากที่ไหน?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ผมเรียนมาไม่มากนักที่นี่ แต่การเดินทางไปชกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา, เม็กซิโก, อังกฤษ, ปานามา, ญี่ปุ่น, และสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยผมได้มาก

อู๊ด: และ นิการากัว…

มอลโลน: แล้วคุณชอบที่ไหนมากที่สุดล่ะ?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: สวิตเซอร์แลนด์ …และญี่ปุ่น

มอลโลน: ทุกวันนี้คุณดูมวยบ้างไหม?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ก็ไม่เท่าไหร่ นับแต่ผมแขวนนวมผมก็ไม่ค่อยได้ดูมวยหรอก ผมจึงไม่ค่อยที่จะรู้จักนักมวยในยุคนี้มากนัก

ชาติชายกล่าวกับผมว่า เขาไม่คิดว่าทุกวันนี้จะมีแชมเปี้ยนมากมายมากกว่าเมื่อครั้งที่เขายังคงขึ้นชกมวยอยู่หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น

“ยุคนี้มีแชมเปี้ยนมากเกินไปแล้ว”, เขากระซิบเบาๆ

มอลโลน: คุณลองเปรียบเทียบกีฬามวยในยุคนี้กับยุคของคุณให้ฟังหน่อย?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: มวยเป็นกีฬา แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แน่นอนว่าเงินก็สำคัญ แต่มวยก็ยังเป็นกีฬาอยู่ดี

มอลโลน: คุณคิดว่านักมวยที่ดีที่สุดของไทยคือใคร? คุณหรือปล่าว? อาจจะเป็น เขาทราย แกแล็คซี่? โผน กิ่งเพชร?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: โผน กิ่งเพชร ยุคนั้นเมื่อโผนและผมขึ้นชกผมคิดว่าสภาพการณ์คงจะไม่เหมือนกับตอนที่เขาทรายขึ้นชกแน่ เพราะในทศวรรษที่ 60 และ 70 นั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีทีวีดุกันหรอก

ไม่นานมานี้ผมได้คุณกับคนขับแท็กซี่คนหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่าตอนเขาเป็นเด็กเขาได้ฟังถ่ายทอดสดการชกของโผนและชาติชายจากวิทยุ เพราะครอบครัวของเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อทีวีดู

มอลโลน: เขา (โผน) เป็นนักชกที่มีชื่อเสียงของไทยในความคิดของคุณใช่ไหม?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ใช่แล้ว

มอลโลน: แล้วนักชกจากประเทศอื่นๆที่คุณชอบล่ะ?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ร็อคกี้ มาร์เซียโน่...และใครนะ? อ้อ โรเบอร์โต้ ดูรัน ผมชอบดูรันมาก เขาชกอย่างเอาจริงเอาจังราวกับสัตว์ป่าบนเวที ส่วนมาร์เซียโน่ผมชอบการชกโอเวอร์เฮดขวาของเขามาก ซึ่งผมได้จดจำมาจากการชกของเขาและนำเอามาใช้ด้วย

มอลโลน: ปัจจุบันนักชกรุ่นเบาสารมารถทำเงินได้เฉลี่ย 1-2 หมื่นดอลล่าร์ และอาจสูงถึง 1 แสนดอลล่าร์ สมัยคุณคุณได้ค่าตัวสูงสุดเท่าไหร่?
ชาติชาย เชี่ยวน้อย: ครั้งที่ผมชกกับ ฟริตซ์ เชอร์เว็ต ที่สวิสเซอร์แลนด์ผมได้ค่าตัวสูงสุดคือ 7.5 หมื่นดอลล่าร์ ซึ่งผมก็ใช้จ่ายบ้างบางส่วน นอกจากนั้นแล้วก็เอามาให้ภรรยาและลูกๆของผม ผมชกมวยได้เงินมาก็เอามาซื้อที่ดินสะสมเอาไว้และใช้เป็นทุนการศึกษาของลูกๆ ผมได้เงินมาก็จะเอามาใช้จ่ายกับเรื่องในครอบครัวนี่แหละซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญมากที่สุดนะ